กตส.แจงขั้นตอนการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี ตามโครงการ
 พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง
             แนะเกษตรกรศึกษาข้อมูล ป้องกันการสวมสิทธิ์
 
          เช้าวันนี้ (๓ ก.ย.๕๕) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการแถลงข่าวโครงการ
พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เพื่อชี้แจงมาตรการ
และทำความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการฯ โดยมี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการแถลงข่าว ร่วมด้วย
นายจักรี สุจริตธรรม อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และนายชนะชัย เปล่งศิริวัธน์ ผู้อำนวยการ
องค์การสวนยาง ร่วมแถลงข่าว ณ ห้อง 134 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
         นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า
จากสถานการณ์ยางพารา ที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ รัฐบาลตระหนักถึงปัญหานี้ และได้
ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการหารือและประเมินสถานการณ์ร่วมกัน ระหว่าง
ประเทศที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมทั้งเวียดนาม ซึ่งจะได้เชิญ
ให้เข้ามาร่วมกลุ่มผู้ผลิตยางพารา เพื่อผนึกกำลังกัน นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับประเทศจีน
ในฐานะผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ เพื่อหายุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อรักษา
เสถียรภาพราคายางในระยะยาว ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการในประเทศ รัฐบาลได้มีโครงการ
พัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยดำเนินการชะลอการ
จำหน่ายยางออกสู่ตลาดในช่วงที่ราคาผันผวน และพัฒนาสถาบันเกษตรกร ในการรักษาเสถียรภาพ
ราคายางซึ่งจากการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับประโยชน์จาก
โครงการนี้ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่เห็นประโยชน์ส่วนตน เข้ามาแทรกแซงโครงการ หรือนำยางพารา
นอกโครงการมาสวมสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นการเบียดบังประโยชน์และเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ จึงได้
สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และหากพบการกระทำผิด ก็จะใช้มาตรการ
อย่างเด็ดขาดต่อไป จากสถานการณ์นี้ จะส่งผลให้ขั้นตอนในการรับซื้อ ตรวจสอบยาง ต้องใช้ความ
ละเอียดมากขึ้น โดยได้มอบหมายให้องค์การสวนยาง เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และในวันนี้
ก็ได้จัดให้มีการถ่ายทอดการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) ไป
42 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเชิญตัวแทนสถาบันเกษตรกรต่างๆ มาประชุม เพื่อชี้แจงมาตรการและทำ
ความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการในโครงการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้เกษตรกร และสถาบัน
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
         นายจักรี สุจริตธรรม อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกรมตรวจบัญชี
สหกรณ์ ได้จัดทำคำแนะนำและวิธีปฏิบัติทางบัญชีตามรูปแบบของโครงการฯ ในการรวบรวมยางพารา
ของสถาบันเกษตรกร และจัดทำคู่มือตรวจสอบบัญชีในการรับซื้อและจำหน่ายยางพาราของโครงการฯ
ของสถาบันเกษตรกร รวมทั้งให้คำแนะนำการจัดทำบัญชีและตรวจบัญชีของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วม
โครงการ ๔๙ จังหวัด ๕๗๐ แห่ง และตรวจสอบจุดรับซื้อยางขององค์การสวนยาง ๒๒ จังหวัด ๕๐ แห่ง
ทั้งนี้ ระหว่างที่เข้าปฏิบัติงานตรวจสอบพบว่ามีอุปสรรคหลายด้าน อาทิ บางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง
สถาบันเกษตรกร และเกษตรกรสมาชิก ขาดความเข้าใจในเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการฯ ที่
ชัดเจน และเกิดปัญหาการสวมสิทธิ ดังนั้น จึงจำเป็นที่เกษตรกรผู้มีสิทธิ รวมทั้งสถาบันเกษตรกรและ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ต้องรับรู้กระบวนการตรวจสอบ และให้เกษตรกรเจ้าของสวนยางได้
รักษาสิทธิ์ตามโควตาการขาย โดยกรมฯ ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติการตรวจสอบขึ้น ๗ ขั้นตอน ดังนี้
        ขั้นตอนที่ ๑ ประสานงานขอข้อมูลจากสถาบันเกษตรกร สมาชิก จากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์
การทำสวนยาง เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับจังหวัด เพื่อทราบโค้วต้าการขายยาง
ของสถาบันเกษตรกร โดยได้รับรายงานแล้ว ๒๐ จังหวัด 
        ขั้นตอนที่ ๒ แนะนำ สอนแนะ การจัดทำบัญชีของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้
สถาบันเกษตรกรจัดทำบัญชีได้ และให้มีข้อมูลการดำเนินธุรกิจการรวบรวมยางตามโครงการฯ โดยได้รับ
รายงานแล้ว ๕๗๐ แห่ง 
        ขั้นตอนที่ ๓ ตรวจสอบบัญชีของสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับรายงานแล้ว ๕๗๐ แห่ง 
        ขั้นตอนที่ ๔ สังเกตการณ์ ณ จุดรับซื้อยางของอสย. เพื่อคัดกรองการรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกร
ได้รับรายงานแล้ว ๓ แห่ง (ศรีสะเกษ พะเยา และตรัง) 
        ขั้นตอนที่ ๕ ตรวจสอบเอกสารการสั่งจ่ายเงินและโอนเงินให้สถาบันเกษตรกรของอสย. ซึ่งกรมฯ ได้
ประสานกับ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ เพื่อขอข้อมูลแล้ว 
        ขั้นตอนที่ ๖ ตรวจสอบการจัดเก็บยางในสต๊อคของ อสย.ได้รับรายงานแล้ว ๔ แห่ง 
        ขั้นตอนที่ ๗ การรายงานผลการปฏิบัติงานของกรมฯ ทางสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้รายงานผล
การปฏิบัติงาน ขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ต่อกรมฯ ด้วยระบบ Webpage เป็นปัจจุบัน ทั้ง ๔๙ จังหวัด 
         ทั้งนี้ ขอให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์การ
ตรวจสอบดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างโปร่งใส โดยสามารถติดต่อ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายตรง ๐ ๒๒๘๒ ๖๑๖๑-๒ หรือโทรสาร ๐ ๒๒๘๐ ๗๗๕๔