กตส.สรุปผลงาน ปี 66 พร้อมเดินหน้าพัฒนาความเข้มแข็ง
ด้านบัญชีแก่สหกรณ์และเกษตรกร
 
      กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สรุปผลงานประจำปี 2566 ชูพัฒนาศักยภาพ
ด้านการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สร้างเสริมนวัตกรรม
การให้บริการ เพิ่มความเข้มข้นการตรวจสอบบัญชีและการควบคุมภายใน
พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร
คุณภาพ สร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
 
       นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวสรุปผลการ
ดำเนินงานและการปฏิบัติงานในรอบปีงบประมาณ 2566 ว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ภายใต้วิสัยทัศน์ "ตรวจสอบบัญชีและส่งเสริมการทำ
บัญชี เพื่อสร้างความเข้มแข็ง โปร่งใสแก่สหกรณ์และเกษตรกร” เพื่อยกระดับความ
สามารถการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในของสหกรณ์
และกลุ่มเกษตรกร การใช้ข้อมูลทางบัญชีและนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหาร
จัดการอย่างทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้
การจัดทำบัญชีให้แก่สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็ง
ด้านการบริหารจัดการทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกร รวมทั้งเพื่อให้สมาชิกสหกรณ์
เกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน โดยมีผลดำเนินงานตามภารกิจ
หลัก ดังนี้
       ด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร  กรมฯ ได้มุ่งเน้นการ
ตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว สร้างระบบการกำกับดูแลและ
ตรวจสอบคุณภาพการสอบบัญชีสหกรณ์อย่างเข้มข้น เตรียมความพร้อมพัฒนาสู่
มาตรฐานการบริหารคุณภาพงานสอบบัญชี (TSQM) ด้วยมุ่งหวังให้สหกรณ์มีระบบ
บริหารจัดการด้านการเงินที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส สร้างความ
เชื่อมั่นให้สมาชิกได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่
ได้รับการตรวจสอบบัญชีแล้ว 11,444 แห่ง สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงิน
ได้ 8,599 แห่ง
      ด้านการพัฒนาศักยภาพด้านบริหารจัดการทางการเงินแก่สถาบัน
เกษตรกร กรมฯ ได้สอนแนะการจัดทำบัญชี เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมี
ความสามารถในการจัดทำบัญชีและงบการเงิน ส่งเสริมให้มีระบบการควบคุม
ภายในที่ดี สร้างธรรมาภิบาลในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยมีสหกรณ์และกลุ่ม
เกษตรกรได้รับการพัฒนาในหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง 450 แห่ง แบ่งเป็น กรรมการ
ดำเนินการสหกรณ์ 500 ราย ฝ่ายจัดการ 300 ราย ผู้ตรวจสอบกิจการ 250 ราย
เจ้าหน้าที่บัญชี 400 ราย รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพในการจัดทำบัญชีและการ
นำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการแก่วิสาหกิจชุมชน 954 แห่ง ทั้งนี้
กรมฯ ยังได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ใช้งานโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร
(Full Pack Account Software) ซึ่งปัจจุบัน มีสหกรณ์ที่ใช้บริการแล้ว 1,789
แห่ง รวมถึงการส่งเสริมให้สหกรณ์ คณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และสมาชิกใช้งาน
แอปพลิเคชัน SmartMember และ SmartManage
     ด้านการส่งเสริมการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรและประชาชน กรมฯ
มุ่งการเสริมสร้างวินัยทางการเงินภาคครัวเรือนและการใช้ข้อมูลทางบัญชีในการ
ประกอบอาชีพแก่เกษตรกรและประชาชน ให้สามารถจัดทำบัญชีได้ ใช้ข้อมูล
ทางบัญชีเป็น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีเงินออม รวมถึงการต่อยอดให้
เกษตรกรรุ่นใหม่พัฒนาสู่การเป็น Smart Farmer และการขยายผลเครือข่าย
ชุมชนคนทำบัญชี สามารถพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรได้ มีการ
จัดทำแผนธุรกิจ รู้จักการคำนวณต้นทุน มองเห็นช่องทางการต่อยอดผลผลิต
ต่าง ๆ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับ
การส่งเสริมการจัดทำบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน 34,557 ราย และบัญชี
ต้นทุนอาชีพ 24,713 ราย
       ในปีงบประมาณ 2567 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังคงมุ่งเน้นการปฏิบัติงาน
ในภารกิจหลักในการสร้างสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้มแข็ง โดยเฉพาะในมิติ
ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และมิติประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร
โดยการขับเคลื่อนโครงการ "THINK & DO TOGETHER” บูรณาการเพื่อ
สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนแก่สหกรณ์ ซึ่งกรมฯ มีแผนจะต่อยอดการดำเนิน
โครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2567 โดยเริ่ม
ดำเนินการนำร่องแล้วในปี 2566 รวม 21 รุ่น มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 134
สหกรณ์ จำนวนผู้เข้าอบรมรวม 1,049 คน เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถ
ในการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีและการควบคุมภายในให้กับสหกรณ์
มุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือ 5 ประสาน ได้แก่ คณะกรรมการดำเนินการ
สหกรณ์ ฝ่ายจัดการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีสหกรณ์
(กรมตรวจบัญชีสหกรณ์) และผู้ตรวจการสหกรณ์ (กรมส่งเสริมสหกรณ์)
       "สำหรับนโยบายในปีหน้า ได้วางแผนขับเคลื่อนการสร้างความเข้มแข็งให้
สหกรณ์ โดยมุ่งเน้นให้สหกรณ์ยกระดับการควบคุมภายในให้มีระบบการควบคุม
ภายในที่ดี ขับเคลื่อนผ่านการบูรณาการร่วมกัน ภายใต้โครงการ "THINK & DO
TOGETHER” ยกระดับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชี พัฒนาความรู้
ความสามารถของผู้สอบบัญชี ซึ่งกรมฯ จะออกนโยบายควบคุมคุณภาพออกมา
รองรับ เพื่อให้ผู้สอบบัญชีได้นำไปถือปฏิบัติ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้
รายงานทางการเงินของสหกรณ์ รวมไปถึงภารกิจในการเสริมสร้างองค์ความรู้
และสอนแนะการจัดทำบัญชีให้เกษตรกร เยาวชนและประชาชน ให้มีวินัยทาง
การเงิน เกษตรกรสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มี
ความยั่งยืน ภายใต้กลไกการทำบัญชี” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.