กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมบูรณาการอบรมบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ
ในโครงการเกษตรวิชญา หนุนเกษตรกรใช้บัญชีวางแผนการผลิต
พัฒนาอาชีพสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
 
        กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าอบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้แก่
เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "โครงการเกษตรวิชญา”
หวังเกษตรกรนำข้อมูลบัญชีมาปรับใช้วางแผนการประกอบอาชีพ สร้างวินัยทางการเงิน
และพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
       กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงใหม่ ร่วมบูรณาการกับกระทรวง
เกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนการจัดทำโครงการเกษตรวิชญา ซึ่งเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพื้นที่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการ
ในลักษณะคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการ
พัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยี
ชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อเป็นการฟื้นฟู
และอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติและมีการ
ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ดำเนินการอบรม
สอนแนะการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ ได้สามารถนำข้อมูล
จากการบันทึกบัญชีมาปรับใช้ในการวางแผนการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม มีเหตุ มีผล
สร้างวินัยทางการเงินและพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี
ครูบัญชีอาสาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่กำกับแนะนำและติดตามผลการจัดทำบัญชี
เพื่อกระตุ้นและสร้างความเข้าใจด้านการจัดทำบัญชีให้เกษตรกร รวมทั้งมีการคัดเลือกเกษตรกร
ตัวอย่างเพื่อเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรด้วย
 
      นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า สำหรับในปีงบประมาณ
2566 กรมฯ ได้อบรมการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรในโครงการฯ โดยมี
เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงใหม่ พร้อมด้วยครูบัญชีอาสา ร่วมเป็นวิทยากรให้
ความรู้และกระตุ้นให้เกษตรกรจัดทำบัญชีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกเกษตรกร
ตัวอย่าง จำนวน 1 ราย คือ นายประเสริฐ วงค์เขื่อนแก้ว เกษตรกรประกอบอาชีพปลูกถั่วฝักยาว
ในพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อเป็นเกษตรกรต้นแบบที่จัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ
ทั้งนี้ จากการที่กรมฯ ได้เข้าร่วมบูรณาการด้านการพัฒนาความรู้ด้านบัญชีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี
2564 จนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมในโครงการฯ และมีการจดบันทึก
บัญชีอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถนำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีไปใช้วางแผนการประกอบอาชีพ
ของตนเองได้อย่างเหมาะสม สร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้ กรมฯ ได้
ตั้งเป้าหมายในการผลักดันการพัฒนาองค์ความรู้การจัดทำบัญชีให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
รวมทั้งเกษตรกรที่สนใจ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเรียนรู้และมองเห็นความสำคัญ
ของการจดบันทึกบัญชีและนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์เพื่อวางแผน การผลิตทางการเกษตร
อย่างเป็นระบบ สามารถสร้างรายได้และลดต้นทุน มีฐานะที่มั่นคงต่อไป
 
       นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมบูรณาการงานเสริมสร้างความรู้และบริการให้คำปรึกษา
แนะนำการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกร เยาวชน และประชาชน ในโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ใน
พระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร โครงการในพระราชดำริ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ
สยามมกุฎราชกุมาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรในโครงการฯ สามารถเข้าถึงการบริการทาง
การเกษตร ได้รับการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรอย่างครบวงจร โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่
ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายที่มีปัญหาได้รับบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน
การวินิจฉัยโรคพืช สัตว์ ประมง รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและฝึกอบรมความรู้การเกษตรควบคู่
ไปด้วย โดยกรมฯ ได้ร่วมจัดกิจกรรมคลินิกบัญชี ให้บริการความรู้การจัดทำบัญชีรับ - จ่ายในครัวเรือน
และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ตลอดจนแนะนำการบันทึกบัญชีด้วยแอปพลิเคชัน Smart Me ที่พัฒนา
โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งใช้สำหรับบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ โดย
ออกแบบให้ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกร เยาวชน และบุคคลทั่วไปใช้ในการจัดทำบัญชีได้ทุกที่
ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์ Smart Phone ที่รองรับทั้งระบบ IOS และ Android ทำให้รู้จักการวางแผนการ
ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้รู้จักความพอดี พอกิน พอใช้ คำนึงถึงหลักเหตุผลและการประมาณตนเอง
ด้วยการบันทึกบัญชี และนำผลจากการทำบัญชีมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาการดำเนินชีวิตของตนเอง
ได้อย่างมีความสุข โดยการนำองค์ความรู้ด้านบัญชีมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเมื่อทำบัญชีเป็น
ประจำจนประสบความสำเร็จ จะสามารถต่อยอดความสำเร็จที่ได้ไปสู่ชุมชนของเกษตรกร
ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านบัญชี มาเป็นกลไก
ที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของความพอเพียงได้ด้วยตนเอง เกิดความเข้มแข็ง ยั่งยืนและความสมดุลในการ
พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และส่งผล
บวกต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศต่อไป โดยในปีงบประมาณ 2566 กรมฯ ได้ร่วมจัดนิทรรศการ
คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ แบ่งเป็น คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ ภายใต้โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ใน
พระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในพื้นที่ 77 จังหวัด ๆ ละ 
4 ครั้ง รวม 308 ครั้ง (ตามแผนงานของกรมส่งเสริมการเกษตร) และนิทรรศการคลินิกจังหวัด
เคลื่อนที่ 56 จังหวัด รวม 407 ครั้ง (ตามแผนจังหวัด) รวมจำนวน ผู้เข้ารับบริการกว่า 2 หมื่นราย.