กตส.เผยทิศทางการปฏิบัติงาน ปี’66 มุ่งตรวจสอบบัญชีและ
ส่งเสริมการทำบัญชี สร้างความเข้มแข็ง โปร่งใส แก่สหกรณ์
และเกษตรกรทั่วประเทศ
 
        นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยถึง
ทิศทางการปฏิบัติงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแผนกลยุทธ์กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เพื่อเป็นกรอบ
ทิศทางการขับเคลื่อนภารกิจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
เชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์ที่ให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบัน
เกษตรกร โดยจัดทำ "ทิศทางการปฏิบัติงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปีงบประมาณ
พ.ศ. 2566 (Roadmap 66)” เพื่อใช้เป็นคู่มือการปฏิบัติงานสำหรับหน่วยงานในสังกัด
ให้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถบริหารงบประมาณ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายทิศทางการดำเนินงานของกรมตรวจ
บัญชีสหกรณ์ ปี 2566 คือ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน มีความเข้มแข็ง
ด้านการเงินการบัญชี เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน และการบริหารจัดการอย่างมี
ประสิทธิภาพก้าวสู่องค์กรดิจิทัล โดยแบ่งกิจกรรมหลัก เป็น 2 ด้าน ได้แก่
      1. ด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ดำเนินการตรวจสอบ
บัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและสร้างความโปร่งใสผ่านการ
ตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุง
การบริหารจัดการและอํานวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม โดยเข้าตรวจสอบบัญชี
ระหว่างปีและประจำปี แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในกลุ่มพร้อมรับการตรวจสอบ
(กลุ่มที่จัดทำบัญชีและงบการเงินได้) เข้าตรวจแนะนำแก่กลุ่มพร้อมรับการตรวจสอบ
ที่จัดทำงบการเงินโดยผู้อื่น และกลุ่มไม่พร้อมรับการตรวจสอบ (กลุ่มจัดทำบัญชี และ
งบการเงินไม่ได้) เข้าวางระบบบัญชี และการควบคุมภายในแก่กลุ่มจัดตั้งใหม่ ติดตาม
การเสนอเลิกกลุ่มอาจถูกสั่งเลิก/กลุ่มต้องเลิกตามกฎหมาย และการตรวจสอบบัญชี
สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่ชำระบัญชี โดยมีเป้าหมาย 11,800 แห่ง รวมถึงเข้า
พิสูจน์ความมีอยู่จริงของข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์กับสมาชิก จำนวน 11,300 ราย
เพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับสหกรณ์ และการฝึกอบรมเศรษฐกิจการเงินขั้นพื้นฐานแก่
สมาชิกสหกรณ์ จำนวน 2,800 ราย เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำธุรกรรมทาง
การเงินร่วมกับสหกรณ์ รวมถึงการผลักดันให้สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และสมาชิก
ใช้แอปพลิเคชัน Smart4M ช่วยให้สมาชิกสามารถทราบข้อมูลการทำธุรกรรมของ
ตนเองกับสหกรณ์ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบความถูกต้องให้แก่สหกรณ์
สหกรณ์สามารถนำข้อมูลไปวางแผนบริหารจัดการและสร้างระบบควบคุมภายในที่ดี
ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตได้
       2. ด้านการสอนบัญชีแก่เกษตรกรและกลุ่มเป้าหมาย จำแนกเป็นการสอนบัญชี
แก่บุคลากรของสถาบันเกษตรกร (สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน) และ
การสอนบัญชีรายบุคคล ซึ่งประกอบด้วยบัญชีรับ - จ่าย ในครัวเรือนและบัญชีต้นทุน
อาชีพแก่เกษตรกร ประชาชน เยาวชน กลุ่มเป้าหมายตามโครงการพระราชดำริและ
การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเกษตร (ครูบัญชีเกษตรกรอาสา) ดังนี้
      - การสอนบัญชีแก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพของการจัดทำ
บัญชี งบการเงิน ยกระดับชั้นคุณภาพการควบคุมภายในสถาบันเกษตรกร ส่งเสริมการ
ใช้งานโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์
และกลุ่มเกษตรกร โดยพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสหกรณ์ และ
กลุ่มเกษตรกรให้จัดทำบัญชีและงบการเงินได้ และนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการ
บริหารจัดการ สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีเป้าหมาย 450 แห่ง รวมถึงการส่งเสริมการ
จัดทำบัญชีวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้
อันจะนำไปสู่การยกระดับเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ โดยมีเป้าหมายในการดำเนินการ
954 แห่ง
       - การสอนบัญชีรายบุคคล ส่งเสริมการจัดทำบัญชีในครัวเรือนและบัญชีต้นทุน
ประกอบอาชีพให้เกษตรกรและกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งกำกับแนะนำกระตุ้นและติดตาม
การจัดทำบัญชี เพื่อส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้ขยายผลไปในทุกกลุ่มเป้าหมายกว่า
64,000 ราย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเกษตร หรือครูบัญชี ให้เป็น Smart
Farmer ด้านบัญชี เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านบัญชี
         รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินงานตาม
ภารกิจหน้าที่หลักทั้ง ๒ ด้านแล้ว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้กำหนดกิจกรรมการ
พัฒนาองค์กร ได้แก่ งานพัฒนาเทคโนโลยีด้านการบัญชีและการสอบบัญชี งานพัฒนา
บุคลากร และงานพัฒนาสารสนเทศในการให้บริการและบริหารงานภาครัฐ โดยมีการ
พัฒนาเทคโนโลยีด้าน การบัญชีและการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
ให้เข้าถึงง่าย สะดวก ทันต่อสถานการณ์ และผลักดันให้มีการใช้โปรแกรมระบบบัญชี
สหกรณ์ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดโครงสร้างและ
ออกแบบระบบ การบริหารงาน ให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว กระชับ ทันสมัย สามารถ
ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ และมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากรให้
มีความรู้ ความสามารถสูง พัฒนาผู้สอบบัญชีสหกรณ์เป็น Cyber Auditor เพื่อให้
สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับการ
ดำเนินการด้านคุณธรรม และความโปร่งใสขององค์กร พัฒนารูปแบบการให้บริการ
ประชาชนด้วยการบริหารจัดการองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม พัฒนา
เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริหารองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยระบบ
คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เชิงรุกรูปแบบใหม่
(New Normal) ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ Website Facebook และ YouTube
รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็น Mass Media ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย และพัฒนา
และการสร้างภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นต้น
       "กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายและพันธมิตร
งทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายในการสร้างความเข้มแข็ง
ให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป”
รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.