กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ย้ำนโยบายมุ่งเน้นวางระบบตรวจสอบ
การเงินและบัญชีของสหกรณ์ ครอบคลุมด้านบริหารจัดการและ
การควบคุมภายใน ป้องปัญหาทุจริตในสหกรณ์
 
       กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมงานแถลงข่าวพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหา
การทุจริตในสหกรณ์ (War Room) โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วย
ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมด้วยนายอำพันธุ์
เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ในวันที่
27 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุม 134- 135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
 
     ในโอกาสนี้ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมนำเสนอ
ข้อมูลเกี่ยวกับการวางระบบตรวจสอบทางการเงินและบัญชีของสหกรณ์ โดยกล่าวว่า
จากปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์หลายแห่ง นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วย
ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบ
เร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาทุจริต เพื่อบรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์
ต่าง ๆ โดยในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบ
บัญชีของสหกรณ์ ได้กำหนดนโยบายตรวจสอบการเงินและบัญชีของสหกรณ์ โดยวางระบบการ
ตรวจสอบที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการและการประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุม
ภายในของสหกรณ์ โดยมีสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่
ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และผู้สอบบัญชีภาคเอกชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตรวจสอบ
ทางการเงินการบัญชีของสหกรณ์มีประสิทธิภาพ โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้เริ่มดำเนินการ
มาตรการเชิงรุกในการจัดทีมตรวจสอบพิเศษ เข้าตรวจสอบระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์
ที่ตรวจสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชนทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ จำนวน 1,178 สหกรณ์
ทั้งด้านการเงินการบัญชี และระบบการควบคุมภายใน ซึ่งต้องมีการดำเนินการตามระบบอย่าง
จริงจัง ทั้งการเข้าตรวจสอบ แนะนำ และเข้าประเมิน เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ พร้อมให้คำ
ปรึกษาแนะนำแก่สหกรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนจากระบบการควบคุมภายในที่ตรวจพบ โดยมุ่งหวัง
ให้สหกรณ์นำไปปรับปรุงแก้ไข เพราะการควบคุมภายในที่ดีนั้น เป็นรากฐานสำคัญต่อที่จะส่งผล
ให้สหกรณ์สามารถป้องกันการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ดำเนินการสร้าง
ความตระหนักรู้ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ และสมาชิกสหกรณ์ ได้มี
ส่วนร่วมในการตรวจสอบการเงินการบัญชีของตนเอง โดยส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการ
บริหารจัดการสหกรณ์ ทั้งในส่วนของคณะกรรมการสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมการใช้ระบบ Smart
Manage ในการตรวจสอบการดำเนินการของฝ่ายจัดการ การใช้โปรแกรมตรวจสุขภาพทางการเงิน
ของสหกรณ์ เพื่อดูสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ กรมฯ
มีการกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจสอบกิจการไว้ เพื่อให้มีการสอดส่อง
ดูแลการทำงานของคณะกรรมการดำเนินการและฝ่ายจัดการ รวมถึงกำหนดแนวทางในการ
ปฏิบัติงานตลอดจนพัฒนาหลักสูตรการตรวจสอบกิจการ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ตรวจสอบกิจการให้
สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้านสมาชิกสหกรณ์ ส่งเสริมให้สมาชิกมีส่วนร่วม
ในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน เช่น เงินฝาก เงินกู้ และหุ้น ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ผ่านแอปพลิเคชัน Smart Member หรือแอปพลิเคชันที่สหกรณ์พัฒนาขึ้นใช้เอง เพื่อให้สมาชิก
สหกรณ์ร่วมเป็นหนึ่งในกลไกตรวจสอบและเสริมสร้างความโปร่งใสให้สหกรณ์ ที่สำคัญ คือ ผู้สอบ
บัญชีต้องตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนด ซึ่งกรมฯ
ยังได้เสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้สอบบัญชีให้มีความรู้ด้าน IT เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วย
ตรวจสอบบัญชี เพื่อให้สามารถให้บริการตรวจสอบบัญชีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย