กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชูเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับประเทศ
ประจำปี 2560 "สุดใจ ชมภูมี”ผู้นำสร้างชุมชนบ้านผารังหมีเข้มแข็ง
สามัคคี โดยใช้บัญชีพัฒนาคุณภาพชีวิต
      
          กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดทำบัญชีรายบุคคลให้กับเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำบัญชีได้ ใช้ข้อมูลเป็น ซึ่งข้อมูลบัญชีรายบุคคลของเกษตรกร จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สามารถใช้บ่งชี้วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการลดต้นทุนผลิตทางการเกษตร การเพิ่มรายได้ การปรับเปลี่ยนอาชีพและการวางแผนทางการตลาด รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการลงทุนและการผลิตได้ดียิ่งขึ้น โดยมีอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีหรือครูบัญชีอาสา ซึ่งปัจจุบันมีครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศกว่าหกพันคน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนกรมฯ ในการขับเคลื่อนเกษตรกรให้จัดทำบัญชี เพื่อช่วยในการวิเคราะห์วางแผนประกอบอาชีพ ลดต้นทุนการผลิต สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพและปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตที่จำเป็น
        ในแต่ละปีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะทำการคัดเลือกครูบัญชีที่มีผลงานดีเด่นด้านการจัดทำบัญชี การเป็นวิทยากรในการสอนแนะ กระตุ้นการเรียนรู้และติดตามผลการจัดทำบัญชีของเกษตรกร มีความคิดริเริ่มฟันผ่าอุปสรรคในการสร้างผลงาน มีความเสียสละเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม มีความเป็นผู้นำอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรและบุคคลในชุมชนได้ ให้เป็นเกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์ม ระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่สามารถนำความรู้ทางบัญชีที่ได้รับไปต่อยอดและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตได้อย่างประสบผลสำเร็จ โดยในปีนี้ นางสุดใจ ชมภูมี ครูบัญชีจากจังหวัดพิษณุโลก ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2560 ชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งได้เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอีกด้วย
           นางสุดใจ ชมภูมี เกษตรกรจากชุมชนบ้านผารังหมี ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีคติประจำใจในการดำรงชีวิตว่า "ทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่รอด”เริ่มต้นเปลี่ยนความคิดและวิถีการใช้ชีวิตจากการมองตัวเองก่อน ที่เดิมมีทำการเกษตรแบบไม่รู้ทิศทาง ไม่มีการคิดวางแผน จึงทำให้ไม่มีกำไรและยังมีหนี้สิน จากนั้นจึงเริ่มต้นจดบันทึกบัญชี จึงทำให้รู้ข้อมูลต้นทุนการผลิต สาเหตุของการทำนาแล้วขาดทุน โดยได้นำสิ่งที่ตัวเองจดเป็นข้อมูลฤดูกาลผลิตต่อไปในการวางแผนทำนาปีของตนเอง และโน้มน้าวคนในชุมชนให้ลงมือจดบันทึกบัญชี เพื่อให้รู้ว่า สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นและสิ่งไหนสามารถทำสิ่งมาทดแทนได้ คนในชุมชนจึงสนใจเริ่มจดบันทึกบัญชีครัวเรือนเพื่ออุดรูรั่วที่ไม่จำเป็น และจดบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้รู้ต้นทุน รู้กำไร ขาดทุน และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยใช้วัตถุดิบที่มีในพื้นที่ทำสิ่งทดแทนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งทำให้ได้คุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รู้จักประมาณตน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีการก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านผารังหมี โดยมีการสอนบัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีครัวเรือน เพื่อให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและจัดตั้งธนาคารขยะ เพื่อลดการเผาขยะในชุมชน สร้างรายได้เพิ่มให้คนในชุมชน ทำให้มีเงินใช้และมีเงินออม จากการน้อมนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้จนชุมชนประสบผลสำเร็จจากการทำนาอินทรีย์ สามารถลดต้นทุนการผลิต และสามารถรวมกลุ่มกันแปรรูปข้าวกล้องปลอดสารพิษจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและชุมชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
      "จุดเริ่มในการเป็นครูบัญชีมาจากการที่เราลำบาก เพราะทำอาชีพตามกระแส เลี้ยงหมูก็เลี้ยงกันทั้งหมู่บ้าน ทำยาสูบก็ทำตามกัน โดยที่ไม่มีข้อมูลว่าต้นทุนเท่าไหร่ อย่างไร ก็เลยมาคิดว่าเราจะหาทางรอดให้กับตัวเอง ต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง พอเรามีข้อมูลก็เอามาดูว่าตรงไหนจะลดต้นทุนได้ เราก็หาทางรอดให้ชาวบ้านด้วย เอาข้อมูลเรามาเปิดเผยให้ชาวบ้านดู เริ่มจากทดลองทำเองก่อน มีการบันทึกบัญชีทั้งบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ จึงทำให้เรา รู้ว่าหัวใจของการประกอบอาชีพ คือการทำบัญชี เมื่อเราทำจนเห็นผลแล้วก็นำข้อมูลของตัวเองมาเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านในชุมชนได้เห็น พยายามหาแนวทางแก้ปัญหา ลดหนี้สินไปด้วยกัน มาถึงตอนนี้ชาวบ้านก็ไม่มีหนี้ ครอบครัวมีความอบอุ่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง เพราะไม่มีปัญหาการใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย จากการที่เรามีข้อมูลการใช้จ่ายเงินจากการบันทึกบัญชี ปัจจุบันเกษตรกรบ้านผารังหมี มีการทำบัญชีคิดเป็น 80% ซึ่งยังคงพยายามกระตุ้นให้ชาวบ้านบันทึกบัญชีอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาทำเป็นแผนพัฒนาตนเอง พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาอาชีพของเราได้เป็นระบบ ความภาคภูมิใจตรงนี้คือทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีทางรอด เราติดปัญญาให้ชุมชนพาตัวเองรอดได้จากการทำบัญชี” นางสุดใจ กล่าว.
 
     
        เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการนำระบบบัญชีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรและครัวเรือนของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในวิถีชีวิตตนเองและสังคมส่วนรวม.