กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชูครูบัญชีอาสานอกภาคการเกษตร
                  นำบัญชีสร้างชุมชนสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง
 
       นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ปิดเผยว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรและประชาชน มีการทำบัญชีมาอย่างต่อเนื่องทั้งบัญชี รับ – จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้เป็นเครื่องมือช่วยจดจำและวิเคราะห์วางแผนสู่การบริหารจัดการด้านการเงิน โดยสร้างครูบัญชีอาสาหรือ "อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี” ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่เป็นเครือข่ายด้านบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นวิทยากร เพื่อสอนแนะ กระตุ้นการเรียนรู้ และติดตามผลการทำบัญชีของเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและประชาชนในชุมชนของตนและพื้นที่ต่างๆ ภายในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรได้นำบัญชีไปใช้วิเคราะห์ต้นทุนการประกอบอาชีพ เพื่อวางแผนธุรกิจในครัวเรือนของตนได้ อีกทั้งประชาชนได้มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อการวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้จักความพอมีพอกิน พอใช้ คำนึงถึงหลักเหตุผล และการประมาณตนเองด้วยการบันทึกบัญชีและนำผลจากการทำบัญชีมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างมีความสุข
      "นอกจากการสร้างครูบัญชีอาสาในภาคการเกษตรแล้ว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังได้สร้างครูบัญชีอาสานอกภาคการเกษตรโดยเป็นบุคคลทั่วไปในชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการช่วยสอนแนะการจัดทำบัญชีให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้รู้บัญชี ทำบัญชีเป็น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางบัญชีนำไปใช้ในการวางแผนด้านการเงินในครัวเรือนและการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่สนองนโยบายของรัฐบาลด้านการยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและสร้างความเข้มแข็งด้วยระบบบัญชี โดยที่ผ่านมาครูบัญชีอาสานอกภาคการเกษตร ถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญต่อการขับเคลื่อนภารกิจของกรมฯ มาอย่างต่อเนื่อง”
      อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นางวรรณี ปัททุม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร นับเป็นตัวอย่างครูบัญชีอาสานอกภาคการเกษตรที่ประสบความสำเร็จด้านการทำบัญชีอีกท่านหนึ่ง เดิมทำอาชีพเกษตรกรรม (ทำนาและสวนส้มโชกุน) ภายหลังเลิกทำอาชีพเกษตรกรและมารับตำแหน่งเป็นพนักงานราชการเทศบาลร่มเกล้า อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร และได้รับเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาลาออกจากราชการมาทำหน้าที่ผู้นำชุมชนอย่างเต็มตัวในปัจจุบัน โดยได้มีการนำองค์ความรู้ด้านบัญชีมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนประสบความสำเร็จและสามารถต่อยอดความสำเร็จที่ได้ไปสู่ชุมชน โดยใช้วิธีการ "สร้างรายได้” มาเป็นแรงจูงใจให้คนในชุมชนหันมาทำบัญชี มุ่งสร้างการมีอาชีพ โดยการรวมกลุ่มชาวบ้านทำผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบขาย ส่งผลให้ชาวบ้านมีรายได้และมีความสนใจในการทำบัญชีมากขึ้น อีกทั้งยังนำนวัตกรรมทางความคิดสร้าง "ปฏิทินชีวิต” เป็นเครื่องมือการจดบันทึกบัญชีสำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ให้สามารถลงบันทึกบัญชีโดยการกรอกเพียงตัวเลขจำนวนเงินในรายการบนปฏิทินชีวิต และช่วยรวบรวมสรุปบัญชีให้กับชาวบ้าน ส่งผลทำให้คนในชุมชน มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างเหมาะสมและรักการออมเงิน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชีวิต
      จากผลความสำเร็จของนางวรรณี ปัททุม ครูบัญชีอาสานอกภาคการเกษตร เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า "บัญชี” นับว่ามีความสำคัญต่อการวางแผนการดำเนินชีวิตของตนเองและครอบครัว เป็นแบบอย่างสู่ชุมชนให้ปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิต โดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านบัญชี มาเป็นกลไกที่จะเข้าถึงแก่นแท้ของความพอเพียงได้ด้วยตนเอง เกิดความเข้มแข็งและความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศต่อไป.