กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เผยภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสหกรณ์
และกลุ่มเกษตรกร ปี 2559
 
       นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจในการให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางการเงินการบัญชี และรายงานภาวะเศรษฐกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทราบผลการดำเนินงานและ ผลการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจทางการเงิน รวมทั้งการเตือนภัยทางการเงินและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นข้อมูลให้สหกรณ์นำไปใช้วางแผนและปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ สำหรับในปี 2559 ภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จากผลการสอบบัญชีประจำปี พบว่า เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ และมีผลกำไรสุทธิขยายตัว ร้อยละ 11.73
        ทั้งนี้ จากข้อมูลวันที่ 30 กันยายน 2559 มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 11,297 แห่ง เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 3,941 แห่ง และสหกรณ์นอกภาคการเกษตร จำนวน 3,200 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 4,156 แห่ง มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 12.64 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.33 ของประชากรทั้งประเทศ ทุนดำเนินงานรวม 2.69 ล้านล้านบาท สรุปผลการวิเคราะห์ได้ดังนี้ การบริหารจัดการธุรกิจของภาคสหกรณ์ไทย ดำเนินธุรกิจมูลค่าทั้งสิ้น 2.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.72 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 8.37 โดยมีการดำเนินธุรกิจสินเชื่อมูลค่าสูงสุด 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.88 ของมูลค่าธุรกิจทั้งสิ้น รองลงมาเป็นธุรกิจรับฝากเงิน ร้อยละ 34.81 ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลิตผล ร้อยละ 4.06 ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายร้อยละ 3.06 และธุรกิจให้บริการ ร้อยละ 0.19 ซึ่งจากผลการดำเนินงานในภาพรวม มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 7.68 หมื่นล้านบาท สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีเงินออมเฉลี่ย คนละ 143,972 บาท และหนี้สินของสมาชิก เฉลี่ยคนละ 153,177 บาท
        สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเงินของภาคสหกรณ์ไทย มีความสามารถในการบริหารจัดการได้ดีพอสมควร ทุนดำเนินงาน ขยายตัวร้อยละ 9.13 เป็นทุนของสหกรณ์เอง 1.16ล้านล้านบาท และเป็นส่วนของหนี้สิน 1.53 ล้านล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ทั้งนี้ จากผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงของเงินทุน พบว่า ทุนของสหกรณ์ไม่สามารถรองรับหนี้สินได้ทั้งหมด สหกรณ์จึงควรส่งเสริมให้สมาชิกสะสมทุนเรือนหุ้นเพิ่มขึ้น บริหารจัดการสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้รองรับความเสี่ยง และบริหารจัดการเงินรับฝากให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งพิจารณาเงื่อนไขการให้สินเชื่ออย่างรัดกุม
         ส่วนพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงาน ได้แก่ ยางพารา ข้าวเปลือก ข้าวโพด ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลัง มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 54,908 ล้านบาท หากพิจารณาการรวบรวมผลิตผลอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มีการขยายตัว ส่วนการรวบรวมผลิตผลยางพารา ข้าวเปลือก และปาล์ม หดตัวลง ผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในระดับต่ำ แต่พืชดังกล่าวยังเป็นความต้องการของตลาดค่อนข้างมาก จึงมีแนวโน้มน่าจะปรับตัวดีขึ้น
        อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทย ปี 2559 ได้ว่า ยังสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ค่อนข้างดี มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการสะสมทุนจากสมาชิก ซึ่งเป็นทุนที่มีความเข้มแข็งมั่นคง ปราศจากภาระผูกพัน ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนทางธุรกิจ และควรพิจารณาหามาตรการเร่งรัดลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาเพิ่มขึ้น รวมทั้งพิจารณาเงื่อนไขธุรกิจการให้สินเชื่อ โดยคำนึงขีดความสามารถในการชำระหนี้และหลักประกันของสมาชิกเป็นสำคัญ ตลอดจนจัดให้มีการเตือนภัยทางการเงิน เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังและวางแผนรองรับความเสี่ยงของธุรกิจอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน นำความผาสุกให้กับมวลสมาชิก
       "ประเด็นที่สำคัญคือ สหกรณ์ต้องให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์ใช้ในการ วางแผนบริหารธุรกิจสหกรณ์และต้องไม่ละทิ้งหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องโดยการนำหลัก "ธรรมาภิบาล” และหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท รวมถึงมวลสมาชิก จะต้องมีวินัยทางการเงิน โดยทำบัญชีต้นทุนอาชีพและบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน เพื่อให้สหกรณ์เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”