มานะ เซียงสันเทียะ ครูบัญชีดีเด่น จ.นครราชสีมา
       นำบัญชีบริหารจัดการชีวิต เดินตามรอยทางความพอเพียง
 
          นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ความสำคัญในการสร้างครูบัญชีหรือ"อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี” เพื่อทำหน้าที่แทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการเป็นวิทยากร วิทยากรผู้ช่วย เพื่อสอนแนะ กระตุ้นการเรียนรู้ และติดตามผลการทำบัญชีของเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนของตนและพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อเป็นการต่อยอดการรณรงค์การทำบัญชีให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของเกษตรกรสู่ครัวเรือนและขยายผลในระดับชุมชน ซึ่งทำให้เกิดตัวอย่างของเกษตรกรที่สามารถนำองค์ความรู้ทางบัญชีมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเองได้ ซึ่งจากการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และครูบัญชี จะช่วยเสริมสร้างให้เกษตรกรได้ใช้บัญชีไปใช้วิเคราะห์ต้นทุนการประกอบอาชีพ เพื่อวางแผนธุรกิจในครัวเรือนของตนได้ โดยปัจจุบันกรมฯ มีครูบัญชีอาสาทั่วประเทศ จำนวน 10,026 คน หลายท่านได้นำข้อมูลทางบัญชีไป ปรับใช้และต่อยอดในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพจนประสบผลสำเร็จ
          อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างของครูบัญชีท่านหนึ่งที่นำบัญชีไปประยุกต์ใช้ก็คือ นายมานะ เซียงสันเทียะ เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2559 จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเกษตรกรท่านหนึ่งที่ยึดหลักการดำรงชีวิตในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรพึ่งตนเอง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผสมผสานให้เกิดความมั่นคงต่อครอบครัว ปัจจุบันประกอบอาชีพหลักด้านการเกษตรกรรม โดยการทำนา ปลูกหญ้าแฝก ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกผักสวนครัว ไม้ผลตามฤดูกาล เพื่อบริโภคส่วนที่เหลือจำหน่าย และเป็นรายได้ให้กับครอบครัว โดยเริ่มต้นการจดบันทึกบัญชีจากการที่ได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้จากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้เริ่มจดบันทึกบัญชีในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ แล้วนำมาวิเคราะห์ รวบรวมเป็นหมวดหมู่ และสังเคราะห์ให้เกิดเป็นแผนในเรื่องของการลดรายจ่าย จากนั้นจึงพยายามหาเหตุและผลของปัญหาต่างๆ ในครัวเรือน รวมทั้งในการประกอบอาชีพ โดยใช้ข้อมูลทางบัญชีมาใช้ชี้วัด เริ่มจากการวางแผนไปสู่การปฏิบัติ จากง่ายไปหายาก จากสิ่งที่ง่ายที่สุด เช่น เรื่อง อาหาร การปลูกผักสวนครัว ในส่วนของอาชีพหลักก็เริ่มต้นจากลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมีต่างๆ นำทรัพยากรที่อยู่ใกล้ตัวมาใช้ประโยชน์มากขึ้น มุ่งเน้นในเรื่องของการพึ่งตนเองเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้จึงเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาตนเองของครูมานะ ซึ่งหลังจากได้พัฒนาตนเองจนเริ่มมีความเข้าใจในระดับหนึ่ง สามารถเป็นตัวชี้วัดถึงผลของการกระทำจากกิจกรรมต่างๆ จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้จากการทำบัญชีไปขยายผลสู่บุคคลอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นคนที่ขาดโอกาสหรือเป็นบุคคลที่ล้มเหลวในการใช้ชีวิตในครอบครัว หรือล้มเหลวจากการประกอบอาชีพ เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้จ่าย ให้เกิดการใช้จ่ายเงินที่น้อยที่สุดแต่คุ้มค่ามากที่สุด โดยใช้ "ทฤษฎีโอ่งน้ำ”เปรียบรายรับ เป็นสายน้ำที่นำเข้าโอ่ง ส่วนรายจ่ายเป็นเงินที่รั่วออกจากรูรั่วของโอ่ง จึงต้องช่วยกันอุดรูรั่ว ซึ่งก็คือ การลดรายจ่าย อุดรูรั่วของน้ำ ซึ่งก็คือ รายจ่าย
           ครูมานะยังได้ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก เพื่อเป็น "กำแพงที่มีชีวิต” ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งยังได้ต่อยอดนำหญ้าแฝกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งเครื่องจักสาน เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นต้น เพื่อส่งจำหน่ายให้มูลนิธิชัยพัฒนา ในชื่อศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลโนนไทย เป็นการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เช่นการผลิตปุ๋ยหมัก ผลิตปุ๋ยน้ำหมัก การใช้ปุ๋ยพืชสด การไถกลบตอซัง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เองแทนการใช้ปุ๋ยเคมี พัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ และที่อยู่อาศัยในหมู่บ้าน การทำนาลดต้นทุน เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ ไม่เผาตอซัง และหลุมพอเพียง และเป็นอาสาให้กับหน่วยงานต่างๆ อาทิ อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี ประธานกลุ่มเครือข่ายหญ้าแฝกระดับประเทศ หมอดินอาสา ประมงอาสา อาสาฝนหลวง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน เป็นต้น
           "กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้เร่งขับเคลื่อนสร้างครูบัญชีอาสา เพื่อเป็นกลไกในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางบัญชีสู่เกษตรกรนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการภาคการเกษตรและการดำเนินชีวิตสู่ความสำเร็จ โดยมุ่งหวังนำระบบบัญชีมาใช้เป็นคู่มือชีวิตในการยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นนักเกษตรยุคใหม่ที่พร้อมต่อการปรับตัวเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรในสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันและอนาคต สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ด้วยระบบบัญชี” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.