ครูบัญชีอาสา  :  ผู้นำบัญชีขจัดความยากจน

       ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ทุกภาคส่วนต่างมุ่งขจัดความยากจนให้หายไปจากสังคมไทย  โดยใช้กลไกวิธีการต่างๆ ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
โดยเฉพาะเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความสุขบนการพึ่งพาตนเอง หนึ่งในกลไก
เหล่านี้ คือ “ครูบัญชีอาสา” ที่ขาดไม่ได้ในชุมชน
       หากมองย้อนไปในอดีต การทำบัญชีเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ เพราะเห็นว่า
บัญชีเป็นเครื่องมือที่ทำให้รู้รายรับ รายจ่าย รู้ต้นทุน และทำให้มีเงินออม ซึ่งกรมตรวจบัญชี
สหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรและประชาชน
มีการทำบัญชีรับจ่ายในครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ฯ ที่ทรงให้ความสำคัญในการทำบัญชี ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัส
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541

“ทำบัญชีให้เห็นว่าสมดุลไม่ขาดทุน ถ้าทุกคนสามารถที่จะทำให้พอดีไม่ขาดทุน
ประเทศชาติไม่ขาดทุนแน่  และประเทศชาติขาดทุนอย่างนี้ ไม่ขาดทุน อยู่รอด 
ข้อสำคัญเป็นอย่างนี้ ที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ว่าพอเพียงในการบริโภค แต่ให้
พอเพียงในการมีชีวิตอยู่ บางคนก็อาจจะรวยได้ทีเดียว”

       และเพื่อให้เกษตรกรไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมีการทำบัญชีกันอย่างต่อเนื่อง 
เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพให้เข้มแข็งไม่ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นใดก็ตาม 
ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้พัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีแก่เกษตรกรขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง 
จากบัญชีรับจ่ายในครัวเรือนที่ได้สอนแนะไปแล้ว 5.6 ล้านครัวเรือน มาสู่การทำบัญชีต้นทุน
อาชีพ เพื่อเสริมสร้างให้เกษตรกรรู้จักใช้ข้อมูลจากการบันทึกบัญชีมาวางแผนการผลิต 
ลดต้นทุนการผลิต เกิดการเปรียบเทียบ หรือปรับเปลี่ยนอาชีพ เพราะทำให้รู้กำไร-ขาดทุน
และสามารถเพิ่มรายได้ของตนเอง โดยมีเกษตรกรเป้าหมายจำนวน 2.4 ล้านคน ภายในระยะ
เวลา 6 ปี (2554-2559)

         นายสิงห์ทอง  ชินวรรังสี  อธิบดีกรมตรวจบัญชี
   สหกรณ์  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  ในการดำเนินการดังกล่าว 
   กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้สร้าง “ครูบัญชี“ หรือ “อาสา
   สมัครเกษตรด้านบัญชี” ทำหน้าที่แทนกรมตรวจบัญชี
   สหกรณ์ในการเป็นวิทยากร วิทยากรผู้ช่วย เพื่อสอนแนะ
   กระตุ้นการเรียนรู้  และติดตามผลการทำบัญชีของ
   เกษตรกร  รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้
   แก่เกษตรกรในชุมชนของตน  และพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัด
   อย่างต่อเนื่อง  นอกจากนี้ยังมีการทำงานเป็นเครือข่าย
   ร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และครูบัญชี
   ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้เกษตรกรได้ใช้บัญชีต้นทุนอาชีพ
   ไปประกอบการวางแผนธุรกิจในครัวเรือนของตน ซึ่งเป็น
   การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เน้นหลักภูมิปัญญา
   ชาวบ้าน

       “ครูบัญชีอาสา”  จึงถือได้ว่าเป็นบุคคลที่สำคัญในชุมชน เป็นผู้มีจิตอาสา ทุ่มเทแรงใจ
แรงกาย มุ่งมั่นสอนบัญชีแก่คนในชุมชนให้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางโดยไม่หวัง
สิ่งตอบแทน ด้วยเพียงแต่อยากเห็นคนในชุมชนเข้มแข็งบนพื้นฐานของความพอเพียง
 

       นางอุบล ใจโอด ครูบัญชีดีเด่นระดับประเทศ 
ประจำปี 2554 นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในชุมชน 
ที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ควบคู่กับการทำบัญชี จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ล่าสุด
ได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นครูบัญชีดีเด่นระดับประเทศ 
สาขาบัญชีฟาร์ม และเข้ารับพระราชทานรางวัล ในงาน
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เมื่อวันที่
13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ  มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
       นางอุบล ใจโอด เป็นชาวจังหวัดพิษณุโลก
วัย 52 ปี
เล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นครูบัญชีอาสา เดิมมีอาชีพรับจ้าง
ทั่วไป ได้เงินเพียงวันละ 40 บาท ต้องอดมื้อกินมื้อ
แต่ด้วยใจที่สู้ไม่ถอย ไม่ยอมหมดกำลังใจ  และคิด
อยู่เสมอว่า คนเราถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องต่อสู้ชีวิต
เพื่ออนาคตของคนในครอบครัว
       หลังจากนั้น  ครูบัญชีอุบลได้หันมายึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต  โดยใช้ประโยชน์
ในที่ดิน 8 ไร่ ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลา ฯลฯ ทำให้ทุกวันนี้
ครูอุบลมีเงินออม หายจน และปลดหนี้ได้สำเร็จ

       นางอุบล เล่าให้ฟังอีกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตนเอาใจใส่ในการทำบัญชีมาโดยตลอด
จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย และนำมาเปรียบเทียบตลอดเวลาว่าการที่เราใช้จ่ายนั้น เงินหมดไป
กับสิ่งใดบ้าง ทำให้รู้ตัวเอง และเตือนตนเสมอว่า ถ้าจะใช้เงินหรือลงทุนอะไร จะต้องคุ้มค่า
และต้องมีเงินเก็บออม นอกจากนี้ได้นำความรู้ที่ตัวเองมีแบ่งปันแก่เพื่อนบ้านโดยสอนให้เขา
ทำบัญชี และติดตามอยู่เสมอ ซึ่งแม้จะพบว่า บางคนก็ทำบัญชีต่อเนื่อง บางคนก็ทำบ้างไม่ทำ
บ้าง  แต่นั่นคือโจทย์ที่ทำให้ครูอุบลคิดหาวิธีการที่จะทำให้เพื่อนบ้านทำบัญชีให้ต่อเนื่อง 
โดยครูอุบลบอกว่านอกจากการแนะนำ และพูดคุยถึงประโยชน์จากการทำบัญชี  เพื่อให้คน
ในชุมชนตระหนักและนำไปปฏิบัติแค่นั้นยังไม่พอ สิ่งสำคัญที่สุด คือ “ตัวอย่าง” ที่ครูจะต้อง
ปฏิบัติตนให้เห็นเป็นรูปธรรมนั่นเอง
       ท้ายสุดครูอุบลได้เน้นย้ำว่า“ภาคภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม” และตั้งปณิธาน
ไว้ว่า “จะไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ และสัญญาว่าจะเป็นคนดี จะอุทิศตนเพื่อสังคม และ
ประเทศชาติ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”
       ครูบัญชีอาสา  จึงนับว่าเป็นบุคคลต้นแบบที่ควรค่าแก่การยกย่อง และโดยเฉพาะ
ครูอุบล ใจโอด ที่พลิกผันตนเองจากกำลังใจที่เข้มแข็ง บวกกับความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค 
เอาชนะความยากจนมาได้สำเร็จบนแนวทางของความพอเพียง  และใจที่รักการทำบัญชี 
รักเพื่อนบ้าน รักชุมชน เฉกเช่น นางอุบล ใจโอด ครูบัญชีดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2554