กรมตรวจบัญชีสหกรณ์แนะเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมใช้ “บัญชี”
วางแผนการลงทุนเพาะปลูกรอบใหม่ ลดความเสี่ยงปัญหาทางการเงิน
 

 
       นายสิงห์ทอง  ชินวรรังสี  อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  เปิดเผยถึงการช่วยเหลือเกษตรกร
ที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า  ขณะนี้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ได้เร่งประสานงานกับทางจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 52 จังหวัด เพื่อเข้าไปดำเนินการ
ให้ความรู้ในการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกร  ไม่ว่าจะเป็น บัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชี
ต้นทุนอาชีพ  เพื่อจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนทางการเงิน และการใช้จ่ายเงินของเกษตรกร
ที่ประสบภัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยในเบื้องต้นมีแผนที่จะเข้าไปดำเนินการให้ความรู้ด้านบัญชี
แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้วจำนวนทั้งสิ้น 32,000 ราย
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพระราชดำรัสองค์หนึ่งของพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พูดถึงความสำคัญของการทำบัญชีเอาไว้เมื่อปี 2532 มีความตอนหนึ่งว่า
ข้อสำคัญในชีวิตของเกษตรกร ถ้าได้เงินมาแล้ว ให้รู้จักใช้เงิน สำคัญที่สุด ถ้าเขามีเงิน เขามีรายได้
แล้วเขาไปเป็นหนี้ที่อื่น สุดท้ายก็มาขอยืมเงินจากสหกรณ์ หรือจากใครที่สนับสนุนแล้วใช้หนี้ ไม่ได้
ไปช่วยเหลือในการใช้จ่ายส่วนตัว  อันนี้ต้องสอน  ต้องพยายามสอนทางบัญชีในครอบครัว 
       ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า บัญชีนั้นมีความสำคัญในการควบคุมการใช้จ่ายเงินของเกษตรกร  ถึงแม้ว่า
ขณะนี้ ผู้ประสบภัยจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในหลายๆ โครงการด้วยกัน เป็นต้นว่า ในเรื่อง
ของการช่วยเหลืออาชีพ การทำงาน รวมไปถึงเงินชดเชย  แต่หากเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือ
เป็นเงินแล้ว ไม่รู้จักใช้จ่าย  ไม่รู้จักการควบคุมการใช้จ่าย  เงินเหล่านี้ก็อาจจะถูกใช้จ่ายไปในทาง
ที่ไม่เป็นประโยชน์กับครอบครัว  สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานของกรมนั้น เมื่อได้รับแจ้งรายชื่อ
จากทางจังหวัดแล้ว กรมฯ จะรีบเข้าไปดำเนินการให้ความรู้กับเกษตรกรโดยทันที  โดยการให้
อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และติดตามสอนแนะการจัดทำ
บัญชี  ซึ่งการให้ความรู้ในเรื่องการใช้จ่ายเงินจำเป็นต้องให้ความรู้ล่วงหน้า มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเกษตรกร
ได้รับเงินแล้ว  หากไปให้ความรู้เขาภายหลัง การใช้จ่ายเงินเหล่านั้นก็อาจจะสายเกินไปที่จะไปดูแล
เรื่องการเงินของเกษตรกร