|
|
เดินหน้าเพิ่มความเข้มแข็งและผลักดันประสิทธิภาพการบริหารจัดการการบัญชีและการเงินภาคสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด นำโดย นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ นายเฉลิมพล ดุลสัมพันธ์ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ แห่งประเทศไทย จำกัด ลงนามข้อตกลงร่วมกัน ดันประสิทธิภาพการบริหาร จัดการทางการบัญชีและการเงินของภาคสหกรณ์ออมทรัพย์ ณ ชุมนุม สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 ชี้ ความเข้มแข็งของสหกรณ์ สะท้อนคุณภาพชีวิตสมาชิก
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในภาวะ เศรษฐกิจปัจจุบัน ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินของไทยที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ต่างต้องปรับตัว และหาหนทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ป้องกัน ความเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งธุรกิจในภาคสหกรณ์ก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสหกรณ์ ออมทรัพย์ ที่มีจำนวนกว่า 1,300 แห่ง กระจายอยู่ในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทั่วประเทศ จากการรวมตัวของสมาชิกกว่า 2 ล้าน 5 แสนคน ทุนดำเนินงาน กว่า 9 แสนล้านบาท ที่สำคัญวงเงินการจัดการธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจรับฝากและให้สินเชื่อ มีอยู่ถึง 1 ล้านล้านบาท ผู้บริหารสหกรณ์จึงต้องให้ความสำคัญในประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ โดยเฉพาะด้านบัญชีและการเงิน ซึ่งมีโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ การดำเนินงานสหกรณ์ออมทรัพย์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารความเสี่ยง ด้านเครดิต การบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง รวมถึงการบริหารความเสี่ยง ด้านตลาด มาตรการที่จะรองรับการบริหารจัดการเหล่านี้ จะผนึกกำลังในภาคสหกรณ์ ออมทรัพย์ด้วยกัน เพื่อยกระดับศักยภาพการบริหารงานให้มีระบบการควบคุมภายใน ที่ดีมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดรูปแบบการให้บริการแก่สมาชิกแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ดังนั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ แห่งประเทศไทย จำกัด จึงตกลงร่วมกันในการขับเคลื่อนการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการภาคสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยดำเนินการพัฒนากระบวนการบนพื้นฐาน มาตรฐานการบัญชี ทั้งในด้าน (1) การพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ออมทรัพย์ (2) การพัฒนาเครื่องมือ และกลไกภายใต้มาตรฐานการเงินและการบัญชีสหกรณ์ หรือ Full Pack Accounting และ (3) รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนการออม แก่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนี้ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้เปิดเผยถึง ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจ ทางการเงินในภาคสหกรณ์ออมทรัพย์ รอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่า ในปี 2552 มีสหกรณ์ ออมทรัพย์ทั่วประเทศ จำนวน 1,336 สหกรณ์ ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 2 ขณะที่มีสมาชิก 2 ล้าน 5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 8.97 ทุนดำเนินงานในรอบ ปี 2552 เพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 27.58 จาก 754,939 ล้านบาท เป็น 963,180 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนภายใน ถึง 827,330 ล้านบาท ธุรกิจของสหกรณ์ออมทรัพย์ ทั้งการรับฝากและให้สินเชื่อ มีวงเงินสูงถึง 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 27.88 ด้านผลการดำเนินงาน ทำรายได้รวมในรอบปี 2552 จำนวน 58,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.52 ขณะที่รายจ่ายรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.29 ส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.90 จาก 27,949 ล้านบาท เป็น 35,468 ล้านบาท ภาพรวมสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ มีเงินออมเฉลี่ย 294,967 บาท ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.42 ขณะที่มีหนี้สินเฉลี่ย 287,675 บาท ต่อคนต่อปี ล่าสุด ปี 2552 ระดับการควบคุมภายในของภาคสหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่ อยู่ในระดับดีและดีมาก ร้อยละ 91.25 ในด้านระดับการเฝ้าระวังและเตือนภัย ทางการเงินนั้น สหกรณ์ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังปกติ ร้อยละ 91.55 ขณะที่ ระดับเฝ้าระวังพิเศษ และระดับเฝ้าระวังพิเศษเร่งด่วน มีอยู่ร้อยละ 7.78 และ 0.66 ตามลำดับ ประสิทธิภาพที่เกิดจากการบริหารจัดการการเงินการบัญชีของสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากจะทำให้สมาชิกได้รับบริการแบบเบ็ดเสร็จแล้ว ยังสะท้อนถึงคุณภาพชีวิต ของสมาชิกได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นแรงผลักดันความเข้มแข็งของสังคมและ เศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย นายอนันต์ กล่าว
| |
|
|
|