61 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มุ่งพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี
เร่งติดอาวุธทางปัญญาแก่บุคลากร สร้างความเข้มแข็งแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
พร้อมรับมือเออีซี
|
นายวิจักร อากัปกริยา อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า การดำเนินงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในรอบ 61 ปีที่ผ่านมา มีภารกิจหลายภารกิจที่ได้ดำเนินการและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ภารกิจหลัก ข้อแรกก็คือ การตรวจสอบบัญชี ให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกรมฯ ได้เข้าไปดูแล ตรวจสอบบัญชีให้ทราบว่าการดำเนินงานของสหกรณ์นั้นๆ เป็นอย่างไร เกิดผลกำไรหรือขาดทุน มีผลประกอบการเป็นอย่างไร รวมถึงเข้าไปวางระบบบัญชีการเงินให้เหมาะสมกับธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแต่ละประเภท เพื่อให้มีระบบควบคุมภายในที่ดี ป้องกันข้อบกพร่องหรือการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารการเงินการบัญชี ภารกิจต่อไปคือ
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ให้มีความทันสมัยมากยิ่ง
ขึ้น จากเดิมที่ต้องจดบัญชีด้วยมือลงในสมุด ก็หันมาใช้โปรแกรม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัย ที่สามารถเก็บข้อมูล
ได้มากขึ้นและค้นหาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ข้อต่อไปคือ การพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ ทั้งฝ่าย คณะกรรมการดำเนินการ สหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ และฝ่ายจัดการให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารการเงิน โดยเป็นในลักษณะของการสอนแนะให้ความรู้ทางบัญชี เพื่อติดอาวุธทางปัญญาให้กับตัวบุคคล นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจสอบกิจการ ที่กรมฯ ได้เข้าไปวางแนวทาง รูปแบบการดำเนินงานตรวจสอบ ว่าควรมีทิศทางอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะถ้าบุคคลมีทักษะความรู้ ก็จะสามารถนำไปบริหารสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า กรมฯ ยังได้สนองงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เริ่มต้นจากการสอนการบันทึกบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และต่อยอดไปถึงการทำบัญชีต้นทุนอาชีพสำหรับเกษตรกรที่ประกอบอาชีพ เพื่อให้รู้จักการทำบัญชี รู้จักการวิเคราะห์ลงทุน รู้รายรับ-รายจ่าย นำไปสู่การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ซึ่งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกษตรกรได้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส เพื่อให้คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของเกษตรกรดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว ชุมชน จนไปถึงระดับประเทศ นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีภารกิจเสริมในการเข้าไปรณรงค์ให้เยาวชนในโรงเรียน ได้รู้จักการทำบัญชี รับ-จ่าย เพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับตนเอง รู้จักคิดในการใช้จ่าย ซึ่งถ้าเด็กมีการวางแผนการใช้จ่ายที่ดี ก็จะทำให้มีเงินเหลือเก็บออม และยังสามารถนำไปต่อยอดแนะนำไปถึงผู้ปกครองได้ด้วย กลายเป็นครอบครัวทำบัญชี รู้จักคิด รู้จักจ่าย รู้จักออม |
"ปีต่อไป ในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 62 มองว่าไม่ใช่เฉพาะอธิบดีคนปัจจุบัน แต่มองไปถึงอธิบดีคนต่อไป ซึ่งคาดว่ามีแนวนโยบายในการทำงานไม่ต่างกันมาก เพราะเรามีหน้าที่ในการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพของสหกรณ์ไม่ให้เจ็บป่วย คือ ไม่ให้มีข้อบกพร่องเกิดขึ้นในสหกรณ์ ไม่ให้เกิดการทุจริตซึ่งจะทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ กรมฯ จะเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีเชี่ยวชาญ มีความเข้มข้นและจริงจังในการปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องหรือการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ โดยเป็นในลักษณะของการเฝ้าระวัง ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนสุขภาพของสหกรณ์ รวมทั้งการป้องปราม เตือนภัย จากการที่เข้าไปตรวจสอบ และแจ้งข้อบกพร่องแก่สหกรณ์ว่าควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร ประเด็นสำคัญคือการเน้นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรให้มากขึ้น เพราะถ้าชุมชนใหญ่ขึ้น การแข่งขันก็จะมากขึ้น ใครแข็งแรงกว่าก็จะอยู่รอด ใครอ่อนแอก็จะเสียเปรียบ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนามาตรฐานในการทำงาน รวมทั้งด้านภาษา ที่จำเป็นต้องรู้ภาษาที่สอง ภาษาที่สามเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นอันดับแรกจึงต้องพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้มีความรู้ความสามารถ เรื่องที่สองคือ การพัฒนาเครื่องมือในการทำงาน ซึ่งกรมฯ ก็ได้มีการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ อยู่เสมอ เช่น โปรแกรมระบบบัญชี ซึ่งเป็นโปรแกรมครบวงจรและมีคุณภาพ โดยสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกร สามารถนำไปใช้ติดตั้งในสหกรณ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้หากมีปัญหาในการใช้งาน สามารถขอคำแนะนำปรึกษาได้ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ |