ขับเคลื่อนไอที ในมิติภาคสหกรณ์ไทย สร้างมูลค่าเพิ่ม
และโอกาสเชิงรุก
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผลักดันความพร้อมสหกรณ์ภาคเกษตร สู่มูลค่าเพิ่ม
แนะเชื่อมโยงไอที (Full Pack) กับกลยุทธ์ทางการเงิน พร้อมกระตุ้นสร้าง
พนักงานบัญชีรองรับ ย้ำชัด แค่สหกรณ์เดินหน้า ผลักดันการจัดการ
รูปแบบใหม่ด้วยไอที บนพื้นฐานการให้และแบ่งปัน ก็จะนำมาซึ่งความชัดเจน
ในโอกาสทางธุรกิจ
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า
ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมของไทย ได้รับการดูแลและพัฒนาให้ก้าวทันเทคโนโลยี
สารสนเทศ เพื่อรับมือกับภาวการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ภาคสหกรณ์การเกษตร
ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แสวงหาช่องทางเพิ่มมูลค่า
ให้กับธุรกิจอยู่เสมอ ทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลง มูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้น รองรับ
ความผันผวนของเศรษฐกิจ
หัวใจสำคัญ คือ เรื่องการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของสหกรณ์ที่สนับสนุนต่อธุรกิจ
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที เป็นเรื่องจำเป็น การวาง
กลยุทธ์ที่ดีที่สุด จำเป็นต้องเชื่อมโยงไอที กับข้อมูลที่ได้รับการวิเคราะห์แล้ว
เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในเชิงรุก โดยเฉพาะ
นวัตกรรมการเงินการบัญชีเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งผ่านกระบวนการทางมาตรฐานบัญชี
และเครื่องมือตรวจสอบทางการเงินที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร โปรแกรมตรวจสอบบัญชี
สหกรณ์เชิงลึก การวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ 6 มิติ เครื่องมือเฝ้าระวังและ
เตือนภัยทางการเงิน รวมไปถึงเครื่องมือตรวจสอบมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจ
และสังคม ซึ่งล้วนเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สหกรณ์สามารถวางแผนทางการเงิน
ล่วงหน้า ลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อความเข้มแข็ง
ของภาคเกษตรกรรมของไทยโดยรวมด้วย สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้บริหารสหกรณ์
ที่จะต้องตัดสินใจกำหนดทิศทาง และให้ความสำคัญกับไอทีอย่างจริงจัง
และสร้างพนักงานบัญชีเพื่อรองรับระบบงาน
หากมองในภาพรวมของสหกรณ์ภาคเกษตร ณ วันนี้ มีสหกรณ์ที่ร่วม
สร้างมูลค่าเพิ่มบนพื้นฐานภาวะเศรษฐกิจทางการเงิน กว่า 300 แห่ง หนึ่งใน
ต้นแบบเหล่านี้ คือ สหกรณ์การเกษตรเมืองหนองบัวลำภู จำกัด ที่มุ่งมั่นนำ
เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการบริหารจัดการ สร้างความโปร่งใส และรวดเร็ว
สหกรณ์ไม่เพียงแต่จะนำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร หรือ FAS
(Cooperative Full Pack Accounting Software) ช่วยเพิ่มศักยภาพในการ
บริหารงานของสหกรณ์ ทั้งในมิติของมาตรฐานการบัญชี การให้บริการแก่สมาชิก
และระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารเท่านั้น สหกรณ์ยังนำนวัตกรรม
เตือนภัยทางการเงิน CFSAWS : ss ช่วยเฝ้าระวังและลดความเสี่ยง เพื่อบริหารทุน
ของสมาชิกกว่า 7,000 คน จำนวนกว่า 138 ล้านบาท ให้มีประสิทธิภาพ ในปี
2552 สหกรณ์บริหารจัดการใน 4 ธุรกิจหลัก ที่แม้ว่าจะไม่ขยายตัวจาก 2 ปีก่อน
แต่สามารถทำกำไรสุทธิถึง 1.53 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2550 ผลการดำเนินงาน
ขาดทุน 8.26 ล้านบาท สมาชิกมีเงินออมสูงกว่าหนี้ โดยมีเงินออมเฉลี่ยต่อคน
ประมาณ 7,200 บาท ขณะที่มีหนี้สินเฉลี่ยต่อคน ประมาณ 5,600 บาท
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันมีสหกรณ์ที่ติดตั้ง
โปรแกรม Full Pack แล้วกว่า 2,000 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.90 ของสหกรณ์ที่
ดำเนินธุรกิจกว่า 6,000 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ภาคเกษตร ร้อยละ 25.63 สหกรณ์
นอกภาคเกษตรอีกร้อยละ 8.27 และตั้งเป้าว่า ปี 2554 จะผลักดันโปรแกรม
Full Pack ในภาคสหกรณ์ให้เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 60 รวมถึงกระตุ้นการสร้าง
พนักงานบัญชีไว้รองรับระบบงานด้วย
ในวันนี้ IT ในภาคสหกรณ์ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ผลักดัน นอกจากจะ
หมายถึงเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว หาก I ยังหมายถึง Innovation นวัตกรรมใหม่ๆ
ที่สร้างสรรค์ T หมายถึง Teamwork ที่คณะกรรมการบริหารสหกรณ์ ต้องร่วมกัน
สนับสนุนและผลักดันการจัดการรูปแบบใหม่ บนพื้นฐานการให้ และการแบ่งปัน
ที่ผสานเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความชัดเจนในโอกาสทางธุรกิจ และช่วยให้
สหกรณ์สามารถรับมือได้ในทุกสภาวการณ์ นายอนันต์ ฯ กล่าว