ปั้นฝัน CCA นำ นศ. 11 สถาบัน  ฝึกเข้ม  เตรียมแบ่งสาย
ลงสนามทดสอบ  สู่เส้นทางอาชีพ “ผู้สอบบัญชีสหกรณ์”
 
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ  ภาคการศึกษา  11 สถาบัน  ขับเคลื่อน
CCA  เส้นทางอาชีพ “ผู้สอบบัญชีสหกรณ์”  หลังเก็บตัวฝึกงานสหกรณ์แล้ว
80 ชม.  เตรียมส่งลงสนาม  ทดสอบจริงในฐานะผู้ช่วยผู้สอบบัญชี 
ทั้งแบบฟลูไทม์  และพาร์ทไทม์  เข้มข้น  2 ปี  10 สหกรณ์  ก่อนสอบอีกครั้ง 
เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น CCA คาด  เริ่มตุลาคมนี้
 
       นายอนันต์  ภู่สิทธิกุล  อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  เปิดเผยถึง
ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือ ทางวิชาการ  ระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ 
กับสถาบันการศึกษา11 แห่ง  บูรณาการสร้างผู้สอบบัญชีสหกรณ์  ตามข้อตกลง
ว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการบัญชีและการสอบบัญชีภาคสหกรณ์   
ภายใต้ระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์ที่จัดจ้างผู้สอบบัญชี
ภาคเอกชน  ว่า  การเติมเต็มความรู้พิเศษด้านสหกรณ์ในหลักสูตร   CPCA  
Program   หรือหลักสูตรสร้างอาชีพผู้สอบบัญชีสหกรณ์ (Certified Pre Coop.
Accountant Program) ซึ่งแบ่งการอบรมเป็น 3 ระดับ รวม 36 ชั่วโมง  ผนวกกับ
การเข้าฝึกงานกับผู้สอบบัญชีสหกรณ์ภาครัฐอีก  80  ชั่วโมง  หรือ  10  วัน 
ขณะนี้ได้เดินหน้าเสร็จสิ้นไป  10  แห่งแล้ว  เหลือเพียงอีก  1 แห่ง  เท่านั้น
ที่จะเปิดอบรมในเร็ว ๆ  นี้  ซึ่งหากรวมผู้สมัครเข้าอบรมจากทุกสถาบันถึงขณะนี้มี
จำนวนกว่า 600 คน  ผ่านการอบรมแล้วกว่า 100 คน  และเข้าฝึกงานกับผู้สอบบัญชี
สหกรณ์ภาครัฐแล้วกว่า 40 คน 
       ระยะต่อจากนี้ไป  คาดว่าตุลาคมนี้จะเข้าสู่การทดสอบในภาคสนามในฐานะ
ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีสหกรณ์ภาครัฐ  หรือภาคเอกชน  โดยเลือกปฏิบัติงานได้
ทั้งแบบเต็มเวลา  และเสริมนอกเวลาเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นักศึกษาที่ยังศึกษา
อยู่ในสถาบัน  ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด  2 ปี  ไม่น้อยกว่า  10  สหกรณ์  ภายหลังจากนั้น
จึงจะเข้าสู่กระบวนการสอบอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อขึ้นทะเบียนเป็น CCA หรือผู้สอบบัญชี
สหกรณ์ (Certified Coop. Auditor)
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า  ในทุกช่วงของการทดสอบ
นักศึกษา  เพื่อเข้าสู่เส้นทางอาชีพสอบบัญชีสหกรณ์   เรา  ซึ่งหมายถึง  กรมตรวจ
บัญชีสหกรณ์  และสถาบันการศึกษา  ต่างตระหนักถึงคุณภาพของผู้สอบบัญชีสหกรณ์   
จึงได้วางหลักสูตรและโปรแกรมฝึกปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น  และยังได้วางเป้าหมาย
ที่จะจัดอบรมสัมมนา CCA  Forum  ครั้งใหญ่อีกรอบ  ก่อนออกปฏิบัติงานจริงในฐานะ
“ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ภาคเอกชน” 
       สำหรับสถาบันการศึกษา   11  แห่งประกอบด้วย   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลศรีวิชัย  มหาวิทยาลัยนเรศวร     มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ     มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี    มหาวิทยาลัยราชภัฏ
นครศรีธรรมราช  มหาวิทยาลัยนครพนม   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
(ศูนย์วาสุกรี)   มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  มหาวิทยาลัยบูรพา  มหาวิทยาลัยแม่โจ้   
และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  
       “กรมฯ  เชื่อมั่นว่า  การเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  
หรือเส้นทางอาชีพในภาคสหกรณ์ครั้งนี้  จะสามารถยกระดับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ
ในธุรกิจสหกรณ์ไทยให้เป็นที่ยอมรับ  ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจแก่บัณฑิต  เมื่อก้าวสู่
การปฏิบัติงานจริงในภาคสหกรณ์ต่อไป”  นายอนันต์  กล่าว