เปิดตลาดการค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมคุณค่าสหกรณ์
ในงาน วันสหกรณ์สากล ปี 53
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ สันนิบาตสหกรณ์ฯ นำสหกรณ์ทั่วประเทศ
บุกธุรกิจ B to B ต่อเนื่อง โชว์ภาพลักษณ์ใหม่ขายสินค้าภาคสหกรณ์
ผ่านโต๊ะเจรจา ค้นหาผ่านเว็บไซต์ เผยแบรนด์สินค้าสหกรณ์ หรู พร้อมชูไอเดีย
Coop Shop หวังสร้างมูลค่าเพิ่มภาคสหกรณ์ผ่านเครดิตทางการเงิน บนพื้นฐานของความพอเพียง 1 4 กรกฎาคม นี้ ที่สันนิบาตสหกรณ์
แห่งประเทศไทย นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า
เป็นที่ทราบกันดีว่าเป้าหมายของการเฉลิมฉลองวันสหกรณ์สากล ไม่เพียงมุ่ง
เพิ่มพูนการตระหนักถึงคุณค่าสหกรณ์เท่านั้น ยังส่งเสริมความสำเร็จของ
ขบวนการสหกรณ์ ความเอื้ออาทร และประสิทธิผลทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งนับว่าเป็น
โอกาสอันดีที่วันสหกรณ์สากลในปีนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้รับเกียรติ
จากสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน
ให้นำสหกรณ์จากทั่วประเทศเปิดตลาดการค้าก้าวสู่เวทีการค้าสากล บนความเข้มแข็ง
ของมาตรฐานการเงินการบัญชี และความพอเพียง ไฮไลท์ของงานในปีนี้ เน้นที่การพัฒนาธุรกิจภาคสหกรณ์ ขณะเดียวกันก็ให้
ความสำคัญกับพลังสตรี ซึ่งจากการที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่ม
ธุรกิจในภาคสหกรณ์จึงมองว่า สตรีมีบทบาทมากในภาคสหกรณ์ และครัวเรือนสมาชิก
ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ ฉะนั้นเพื่อผลักดันการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม
ในภาคสหกรณ์ อย่างต่อเนื่อง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จึงได้เชิญชวนสหกรณ์ที่มีเครดิต ทางการเงินมาบอกต่อสังคมไทยและสังคมโลก ว่าจะร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสหกรณ์
ของตน ในช่องทางต่าง ๆ ที่จัดแสดงในงานวันที่ 1 4 กรกฎาคมนี้ ช่องทางแรก เราจัดให้มีโต๊ะเจรจาธุรกิจ หรือที่เรียกกันว่า B to B : Business to
Business เพื่อให้สหกรณ์นำธุรกิจของตนเอง มาเสนอต่อผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์
ด้วยกันเอง ธุรกิจเอกชน ผู้บริโภครายย่อยอื่น ๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ใหม่
ในการขายสินค้าภาคสหกรณ์ให้กว้างไกล ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและค่าการตลาดให้กับ
สหกรณ์ด้วย พร้อมกันนี้มีการจัดแสดงสินค้าคุณภาพและผลิตภัณฑ์ภาคสหกรณ์ที่มี
เครดิตทางการเงิน เช่น ข้าว ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์นม พืชผักผลไม้ เนื้อโคขุน
ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า สามารถเข้าถึงสินค้าสหกรณ์ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
แบบวันสต๊อปช็อปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภค พืชเศรษฐกิจของไทย
ซึ่งสามารถซื้อขายบนพื้นฐานความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสินค้าสหกรณ์ที่มีตราสินค้าเป็นของตนเอง ซึ่งกรมฯ
ได้เห็นคุณค่าของการผลิตและพัฒนาตราสินค้าของสหกรณ์ โดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตร
ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าได้อย่างดียิ่ง ผู้บริโภคก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิตได้ด้วย และล่าสุดกรมฯ ได้นำร่องการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจสินค้าภาคสหกรณ์
ในร้านค้าสหกรณ์ขนาดย่อย หรือ Coop Shop เพื่อให้สหกรณ์ทำธุรกิจกับสมาชิก
อีกทางหนึ่ง โดยรวบรวมและแปรรูปผลผลิต จากสมาชิกมาจำหน่ายในร้าน
Coop Shop ของสหกรณ์ ช่วยสร้างรายได้และเงินออมแก่สมาชิก ทั้งยังถือได้ว่า
เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สหกรณ์ทำเพื่อสมาชิกและชุมชน ซึ่งจะสะท้อนในแง่ของคุณค่า
สหกรณ์และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกรมฯ วางเป้าหมายที่จะเชิญสหกรณ์
ที่มีธุรกิจปั๊มน้ำมันหน้าสหกรณ์ จัดร้าน Coop Shop เป็นของตนเอง กว่า 600 แห่ง
ทั่วประเทศ ตอบรับแล้วกว่า 90 แห่ง และในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะจัดให้มีการลงนาม
ความร่วมมือ 8 ฝ่าย ว่าด้วยการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาธุรกิจ
สินค้าภาคสหกรณ์ (Coop Shop) ในสถานีบริการน้ำมันของสหกรณ์ ระหว่าง
สันนิบาตสหกรณ์ฯ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรอีก 5 แห่ง คือ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย
จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ร้านค้าแห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถ
แห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด และ
ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด โดยในส่วนของกรมตรวจบัญชี
สหกรณ์จะเป็นผู้พัฒนามาตรฐานบัญชี เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
และสนับสนุนการใช้โปรแกรมระบบบัญชี Full Pack ประกอบด้วย ระบบบัญชี
แยกประเภทและระบบสินค้า เพื่อการบริหารจัดการร้านค้า Coop Shop รวมถึงพัฒนา
ไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจสหกรณ์ร้านค้า อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า พื้นที่จัดงานสหกรณ์สากลปีนี้
จึงอาจถือได้ว่าเป็นเขตเศรษฐกิจอย่างย่อม ๆ ใน 4 วัน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
ภาคสหกรณ์ รองรับการขยายผลต่อไปในวันข้างหน้า เพื่อผลักดันธุรกิจการค้า
ภาคสหกรณ์ไทยสู่สากล
|