ตรวจบัญชีสหกรณ์  เดินหน้าพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกร
ผ่านกลไกการบัญชี ณ สกก.บางน้ำเปรี้ยว จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา

       จากการรายงานข้อมูลและการประเมินภาวะเศรษฐกิจทางการเงิน
ของสถาบันเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา  แม้สหกรณ์จะมีการเจริญเติบโต
ทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมาก แต่ยังมีความจำเป็นต้องร่วมกับสถาบันเกษตรกรเฝ้าระวัง
เพื่อพัฒนาความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น   ซึ่งมองจากภาวะเศรษฐกิจของสหกรณ์ 
ในจังหวัดฉะเชิงเทรา  ระหว่างปี 2550-2552  พบว่ามีสหกรณ์ทั้งสิ้นจำนวน
72 สหกรณ์  ประกอบด้วยสหกรณ์ภาคการเกษตร  37 แห่ง  และสหกรณ์
นอกภาคการเกษตร 35 แห่ง
       สหกรณ์มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ซึ่ง มีเพียง 69,495 คน
เป็น  67,199 คน ในปี 2552 มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 5,172.89 ล้านบาท 
เพิ่มขึ้น1,034.10 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.99 มีเม็ดเงินหมุนเวียน
ในธุรกิจ  5 ประเภท  ได้แก่ ธุรกิจรับฝากเงิน  ให้กู้ยืมเงิน  จัดหาสินค้า
มาจำหน่าย รวบรวมผลผลิตและแปรรูป  มีมูลค่าธุรกิจรวม 6,952.05 ล้านบาท 
เพิ่มขึ้นจากปี 2550  ถึง 1,645.48 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.01 
สร้างรายได้รวมจำนวน 2,030.84 ล้านบาท  และสามารถสร้างเงินออมเฉลี่ย
ให้แก่สมาชิกได้ 15,159.45 บาทต่อคน
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล  เปิดเผยว่า
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ได้สร้างระบบเตือนภัยภายใต้โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ
สถาบันเกษตรกร  ผ่านกลไกการบัญชี  นำไปสู่การสร้างวินัยทางการเงิน
ระดับครัวเรือน  โดยมีหลักคิดที่ยึด   สถาบันเกษตรกร   เป็นศูนย์กลาง
การให้บริการ   ทั้งยังให้สมาชิกสามารถพึ่งพาตนเอง  ช่วยเหลือกันและกัน 
ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างเข้มแข็ง  และยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
       สหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว  จำกัด  เป็นหนึ่งในสหกรณ์ต้นแบบ
ที่เข้าร่วมในโครงการนำร่อง “พลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกการบัญชี”
ภายใต้ 7 มิติการปรับเปลี่ยนนั้น  สหกรณ์มีการดำเนินการในทุกมิติ    สำหรับ
ในมิติการสร้างมาตรฐานการบัญชีสถาบัน (Audit/Account) ที่มุ่งเน้นความโปร่งใส
และสร้างศรัทธาต่อสมาชิกนั้น   สหกรณ์มีการพัฒนาขึ้นโดยสหกรณ์ใช้โปรแกรม
ระบบบัญชี Full pack  สามารถจัดทำบัญชีและงบการเงินได้อย่างรวดเร็ว 
ทำให้การปฏิบัติงานสอบบัญชีสหกรณ์เชิงลึก (ACL) ได้อย่างรวดเร็ว
       ทั้งนี้  ภาวะเศรษฐกิจของสหกรณ์การเกษตรบางน้ำเปรี้ยว จำกัด 
ระหว่างปี 2551 -2553  จัดเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่  ปีปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน
4,024 คน  เพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 744 คน  มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น
493.25 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจำนวน 182.13 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.54 
ทุนดำเนินงานดังกล่าวเป็นทุนภายในของสหกรณ์เองจำนวน 432.80 ล้านบาท 
เป็นทุนภายนอกเพียงจำนวน 60.45  ล้านบาท  สหกรณ์มีเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียน
ในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 1,180.07 ล้านบาท  เปรียบเทียบกับ 2551 
ซึ่งมีจำนวน 740.72 ล้านบาท 
เพิ่มขึ้น 439.35 ล้านบาท  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.31 
จากการดำเนินธุรกิจมีรายได้รวม 842.52 บาท  ส่งผลให้สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย
76,039.55 บาทต่อคน   การควบคุมภายในของสหกรณ์อยู่ในระดับดี  
มาโดยตลอด 3 ปี  ที่ผ่านมา
       “ภายใต้ มิติการปรับเปลี่ยน  ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลง  คือ  สร้างโอกาส
เข้าถึงองค์ความรู้ (ลดต้นทุน  เพิ่มรายได้)  สร้างโอกาสเข้าถึงการรวมกลุ่ม 
สร้างโอกาสเข้าถึงทุนดำเนินการ  สร้างโอกาสเข้าสู่ระบบตลาด  ส่งผลให้เข้าถึง
การจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นำประโยชน์กลับคืนสู่สมาชิก 
ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
นายอนันต์ กล่าว