ขับเคลื่อนการพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา
รองรับงานสอบบัญชีสหกรณ์

       ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาสถาบันภาคสหกรณ์ไทย 
ให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ นั่นคือ การดำเนินงานแบบบูรณาการ
ของทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะพัฒนาศักยภาพ  และขีดความสามารถด้าน
การบัญชีและการสอบบัญชี  แก่ผู้ปฏิบัติงานสอบบัญชี  ซึ่งสถาบันการศึกษา
เป็นภาคส่วนที่สำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการบัญชีและการสอบบัญชี
ภาคสหกรณ์  นับตั้งแต่การสร้างมาตรฐานองค์ความรู้และความร่วมมือ
ทางด้านวิชาการ
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เปิดเผยว่า 
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วย 
ความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรด้านการบัญชี  และการสอบบัญชีภาคสหกรณ์
ภายใต้ระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์  ที่จัดจ้าง
ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน  ระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  กับ สถาบันการศึกษา 
ซึ่งกระจายอยู่ตามพื้นที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1 – 10 ในการนี้ 
ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  และแนวทาง
การดำเนินการภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงว่าด้วย  ความร่วมมือกับสถาบัน
การศึกษา 11 สถาบัน 
       ซึ่งได้มีโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาเพื่อรองรับงานสอบบัญชี
ดังกล่าวไปแล้วกับ 10 สถาบัน ซึ่งได้แก่ 1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลศรีวิชัย 2) มหาวิทยาลัยนเรศวร  3) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักพงษภูวนารถ  4) มหาวิทยาลัยราชภัฏ
นครศรีธรรมราช   5) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี   6)  มหาวิทยาลัย
นครพนม  7)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (ศูนย์วาสุกรี) 
8) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  9) มหาวิทยาลัยแม่โจ้  10) มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์
       สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพาเป็น สถาบันแห่งที่ 11   ที่ให้ความร่วมมือกับ  
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์  ซึ่งเห็นถึงความจำเป็น ในการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงาน
ด้านสอบบัญชี ดังนั้น  จึงได้จัดโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา 
เพื่อรองรับงานสอบบัญชีสหกรณ์ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา
ระหว่างมหาวิทยาลัยบูรพา  กับ  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์   ในวันที่ 4 มิถุนายน 2553 
ณ หอประชุมธำรง  บัวศรี  มหาวิทยาลัยบูรพา   จังหวัดชลบุรี
       สาระสำคัญที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ประกอบด้วย 
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสหกรณ์   เน้นหลักและวิธีการสหกรณ์  กฎหมายสหกรณ์ 
รวมทั้งการจัดการธุรกิจสหกรณ์  ระบบบัญชีสหกรณ์   เน้นระบบบัญชีสหกรณ์
การเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์  การสอบบัญชีสหกรณ์  เน้นการจัดทำ
แผนงานบัญชี  เทคนิคและวิธีการตรวจสอบ เครื่องมือและกลไก (IT) 
การขับเคลื่อน  เน้นโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์  การใช้คอมพิวเตอร์ช่วย
สอบบัญชีสหกรณ์  และการเตือนภัยทางการเงิน เป็นต้น
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  กล่าวต่อไปว่า  เป็นการเติมเต็มองค์ความรู้
พิเศษเฉพาะด้านการสหกรณ์ให้นักศึกษาให้สามารถมุ่งสู่อาชีพด้านการสหกรณ์ 
และเป็นการเตรียมบุคลากรด้านการบัญชี และการสอบบัญชีภาคสหกรณ์ 
ภายใต้ระบบการบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์  ที่จัดจ้าง
ผู้สอบบัญชีภาคเอกชน