|
|
สหกรณ์ภาคเกษตร จ.จันทบุรี ตอบโจทย์กลยุทธ์การค้า B to B
หลัง 3 เดือน สร้างมูลค่าซื้อขายผลไม้กว่า 2.8 ล้านบาท
เตรียมปล่อยคาราวานผลไม้ สู่คู่ค้ารอบเมืองจัน
สหกรณ์ภาคเกษตร จังหวัดจันทบุรี ตอบโจทย์กลยุทธ์การค้า B to B ภายหลังสร้างมูลค่าซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์คู่ค้าในรอบ 3 เดือน ที่ผ่านมา กว่า 2 แสนกิโลกรัม มูลค่ากว่า 2.8 ล้านบาท ล่าสุดเตรียมปล่อย คาราวานรถผลไม้ครั้งใหญ่ จากเมืองจันทบุรีสู่สหกรณ์คู่ค้า อีกกว่า 2 หมื่น กก. หวังสร้างรายได้อีกไม่ต่ำกว่า 3 แสน 7 หมื่นบาท กรมตรวจฯ ย้ำ จุดยืน B to B ไม่เพียงจะนำมาซึ่งโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่ง และการบริหารทุนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ผลตอบแทนที่กลับคืนสู่สมาชิก จะรวมเป็นคำตอบอย่างชัดเจนในการพลิกฟื้นธุรกิจสหกรณ์ เล็ง ขยายผล คาราวานรายสินค้าอื่นทั่วประเทศ
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า จุดเด่นของภาคตะวันออก ไม่เพียงแต่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งอัญมณี ที่สำคัญของไทยเท่านั้น ผลไม้นับว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญในภูมิภาคนี้ที่ช่วย สร้างงาน สร้างรายได้ แก่คนในชุมชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เป็นศูนย์กลางการค้าผลไม้ปลอดสารพิษ และส่วนหนึ่งซื้อขายโดยผ่านระบบสหกรณ์ การดูแลธุรกิจผลไม้ในภาคสหกรณ์ เป็นเรื่องที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะในมิติของการสร้างความร่วมมือ ธุรกิจเพื่อธุรกิจ (Business to Business) เพื่อสร้างระบบการพึ่งพาธุรกิจระหว่างสหกรณ์ ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาปัจจัยการผลิต และการขยายธุรกิจด้าน การรวบรวมผลผลิตและแปรรูป ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ที่จังหวัดจันทบุรี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สร้างช่องทาง B to B แก่สหกรณ์ภาคเกษตรทั่วประเทศ กว่า 400 แห่ง เพื่อร่วมพลิกฟื้น ธุรกิจผลไม้ภาคสหกรณ์ไทย และถึงปัจจุบันเฉพาะสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรี มีมูลค่าซื้อขายผ่านช่องทาง B to B เกิดขึ้นแล้ว กว่า 2.8 ล้านบาท จากปริมาณ สินค้าผลไม้ กว่า 2 แสน 1 หมื่นกิโลกรัม สำหรับสหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี เป็นหนึ่งในสหกรณ์ ที่ขานรับกลยุทธ์การค้าแบบ B to B โดยมีสหกรณ์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย เป็นคู่เจรจาเชื่อมโยงทางการค้า โดยสินค้าที่สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด ตกลงขายส่วนใหญ่เป็นผลไม้ตามฤดูกาล และนับว่า ณ วันนี้ เป็นโอกาสอันดี ที่สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด ได้ร่วมกับสหกรณ์คู่ค้าและสหกรณ์อื่น ๆ ในจังหวัด ในการปล่อยคาราวานรถผลไม้ รวมกว่า 2 หมื่นกิโลกรัม มูลค่ากว่า 3 แสน 7 หมื่นบาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยกันกระจายสินค้าผลไม้ออกสู่ตลาด ให้ทันตามความต้องการของผู้บริโภคแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า สหกรณ์มีความ ตื่นตัวในการพึ่งพาธุรกิจซึ่งกันและกัน มุ่งพัฒนาเครือข่ายการตลาดเพื่อลดต้นทุน และสร้างรายได้กลับคืนสู่สหกรณ์และสมาชิก สำหรับสหกรณ์ที่ร่วมคาราวานผลไม้ ในครั้งนี้ อาทิ สกก.บ้านโพธิ์ จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา สกก.เมืองลพบุรี จำกัด จ.ลพบุรี สกก.นางรอง จำกัด จ.บุรีรัมย์ สกก.เมืองสิงห์บุรี จำกัด จ.สิงห์บุรี สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. กาญจนบุรี จำกัด สกก.เมือง กาญจนบุรี จำกัด จ.กาญจนบุรี และ สกก.บ้านเขว้า จำกัด จ.ชัยภูมิ เป็นต้น ซึ่งมีการเชื่อมโยงการจัดการธุรกิจซื้อขายระหว่างกัน เช่น ข้าวและผลไม้ เป็นต้น โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คาดหวังว่า คาราวานผลไม้ในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบ นำร่องสำหรับการขยายผลธุรกิจสหกรณ์รายสินค้าอื่น ๆ ต่อไป อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของสหกรณ์ การเกษตรมะขาม จำกัด ในรอบปีที่แล้วมา คือ ปี 2552 เปรียบเทียบกับช่วง 3 ปี ที่แล้วมา คือ ปี 2550 พบว่า ในปี 2552 สหกรณ์มีสมาชิก 1,796 คน เพิ่มขึ้น 25 คน ด้านทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 20.36 จากทุนที่มีอยู่ กว่า 349 ล้านบาท เป็นกว่า 420 ล้านบาท เป็นทุนภายในเกือบทั้งสิ้น ทุนภายนอกมีเพียง ร้อยละ 0.47 เท่านั้น สหกรณ์ดำเนินธุรกิจหลัก 4 ด้าน มูลค่ารวมกว่า 414 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 37 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.33 โดยมูลค่าส่วนใหญ่ อยู่ในธุรกิจรับฝากเงินกว่า 145 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิม 64 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.50 รองลงมา คือ ธุรกิจให้สินเชื่อ ที่มีมูลค่าลดลง จากเดิมเช่นกัน จาก 121 ล้านบาท ในปี 2550 เป็น 117 ล้านบาท ในปี 2552 หรือลดลง ร้อยละ 2.68 แต่ในด้านของธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจรวบรวมผลผลิตและแปรรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น กล่าวคือ มูลค่าการจัดหา สินค้ามาจำหน่าย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.49 จากเดิม กว่า 68 ล้านบาท เป็นกว่า 84 ล้านบาท ส่วนการรวบรวมผลผลิตและแปรรูป ปรับสูงขึ้นร้อยละ 26.80 จากเดิมกว่า 52 ล้านบาท เป็นกว่า 66 ล้านบาท จากโครงสร้างธุรกิจสหกรณ์ข้างต้น ส่งผลให้การดำเนินงานในรอบปี 2552 ของสหกรณ์มีรายได้รวม เพิ่มขึ้น จากปี 2550 ถึงกว่า 29 ล้านบาท ขณะที่ รายจ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน กว่า 24 ล้านบาท ทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น กว่า 4 ล้านบาท จากเดิมกว่า 11 ล้านบาท เป็น 16 ล้านบาท สร้างเงินออมให้สมาชิกเฉลี่ย กว่า 190,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิม เฉลี่ย 30,000 บาทต่อคนต่อปี สหกรณ์มีระดับการควบคุมภายในอยู่ในเกณฑ์ดีมาก กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เชื่อมั่นว่า ในมิติของความร่วมมือ หากสหกรณ์ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการให้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจทางการเงินที่เข้มแข็ง ร่วมสร้างช่องทางเจรจาธุรกิจระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเอง จะเป็นพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อน 3 ปัจจัย ของการพลิกฟื้นธุรกิจสู่ความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น การบริหารทุนดำเนินงาน การปรับโครงสร้างธุรกิจสหกรณ์ และที่สำคัญ คือ สร้างผลตอบแทนคืนสู่สมาชิกในที่สุด นายอนันต์ ฯ กล่าวทิ้งท้าย
| |
|
|
|