สหกรณ์ยางตื่นตัว พัฒนามาตรฐานการบัญชี เตรียมพร้อม
รับการตรวจสอบ
กรมตรวจบัญชีฯ กระตุ้นสหกรณ์ยางพารา พัฒนามาตรฐานการบัญชี
ควบคู่ IT ย้ำ ให้มีพนักงานบัญชีรองรับระบบ พร้อมยื่นงบให้ตรวจสอบ
เล็งผลลัพธ์สู่วิถีกลยุทธ์ทางการเงิน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจยางพารา
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า
ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่ผันผวนอยู่ในปัจจุบันนี้ สหกรณ์ ที่นับว่าเป็นฐานราก
ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่เพียงแต่จะต้องหาหนทางลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย
ต่าง ๆ ลง และสร้างกำไรให้สูงสุดเพื่อช่วยเหลือสมาชิกเท่านั้น การสร้างมูลค่าเพิ่ม
ให้กับธุรกิจก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่ความเข้มแข็งในสภาวะการแข่งขัน
ของตลาดการค้า บนพื้นฐานของความพอเพียง ยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ
ที่สำคัญของไทย และกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถสร้างรายได้
เข้าประเทศได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจยางพาราในภาคสหกรณ์นั้น
ในรอบปีที่แล้วมา มีมูลค่าการรวบรวมสูงถึงกว่า 33,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย
กว่า 2,000 ล้านบาทต่อเดือน จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจ
ยางพาราจะต้องตื่นตัวให้มาก เพื่อมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจยางที่นับวัน
จะมีแนวโน้มที่สดใสขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตื่นตัวในการพัฒนามาตรฐานการบัญชีให้เหมาะสม
กับธุรกิจ ควบคู่กับการใช้โปรแกรมระบบบัญชี (IT) กระทั่งการจัดให้มีพนักงานบัญชี
เพื่อรองรับการดำเนินงานทั้งระบบ เพื่อความรวดเร็วในการปิดบัญชีและจัดเตรียม
งบการเงินรอรับการตรวจสอบ ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นการบูรณาการสู่วิถีการวาง
กลยุทธ์ทางการเงินที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจยางพาราโดยรวม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินหน้าพัฒนามาตรฐานการบัญชีล่าสุด
ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยวิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการรวบรวม
ผลผลิตการเกษตร (ยางพารา) โดยการเป็นตัวแทน พ.ศ. 2553 ที่ไม่เพียงแต่
จะทำให้สหกรณ์มีหลักปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสม สามารถแก้ไขในการปฏิบัติ
ทางบัญชีได้อย่างถูกต้องแล้ว ยังมุ่งสร้างระบบการควบคุมภายในที่ดีให้เกิดขึ้น
ทั้งยังสามารถวิเคราะห์ผลการรวบรวมยางพาราในภาพรวม เพื่อนำไปใช้
ในการวางแผนกลยุทธ์ทางการเงินของสหกรณ์อีกด้วย
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมูลค่าการรวบรวม
ยางพาราในภาคสหกรณ์ในรอบปี 2552 กว่า 33,000 ล้านบาท ดังกล่าวนั้น
กระจายอยู่ในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยผ่านเครือข่ายสหกรณ์และ
กลุ่มเกษตรกร 385 แห่ง ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 71 อยู่ในพื้นที่ภาคใต้
โดยมีมูลค่าการรวบรวมมากที่สุดที่จังหวัดสงขลา กว่า 6,800 ล้านบาท
และคาดว่าแนวโน้มมูลค่าการรวบรวมยางพาราในปี 2553 จะปรับตัวเพิ่มขึ้น
ถึงร้อยละ 55.39 จากมูลค่าการรวบรวมยางพาราภาคสหกรณ์สู่ตลาดในรอบปีที่แล้วมา
และแนวโน้มในปีหน้า จึงน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี จึงขอฝากให้สหกรณ์ยางพารา
ตื่นตัวทั้งในด้านมาตรฐานการบัญชี ด้าน IT โดยการนำโปรแกรมระบบบัญชี
ช่วยในการดำเนินการ และที่สำคัญคือการจัดให้มีพนักงานบัญชี ที่จะช่วย
สร้างสรรค์ความสำเร็จให้แก่สหกรณ์ อีกทางหนึ่งด้วย นายอนันต์กล่าว
|