ก้าวเล็ก ๆ...ที่คุณครูเฝ้าดู บนเส้นทางของ...My little Farm
โครงการ My little Farm เป็นโครงการที่ไม่เพียงแต่จะสร้างสรรค์เยาวชนไทยให้รักใน อาชีพเกษตรกรรม เรียนรู้การทำเกษตรแบบพอเพียงสามารถคิดคำนวณรายรับรายจ่าย ควบคุมต้นทุนการผลิตเท่านั้น หากแต่ยังหวังกระตุ้นให้โรงเรียน คุณครู และผู้ปกครอง ให้ความสนใจด้านการเกษตรอีกด้วย และตลอดระยะเวลา 56 วัน ที่ผ่านมา ที่ถือได้ว่า เป็นห้วงเวลาอันทรงคุณค่าแห่งการจดจำ ภาพที่เราเห็นกันอย่างชัดเจน คือ ปฏิบัติการ ของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็น การได้เรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกร การอยู่ร่วมกัน ความรัก ความสามัคคี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางภาษา วัฒนธรรม ท้ายที่สุดคือความภาคภูมิใจที่ได้เห็นผลงาน ของตนเองผลิดอกออกผล เป็นรางวัลตอบแทนความเหน็ดเหนื่อย ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังที่เฝ้าดูน้อง ๆ และหายจากความเหน็ดเหนื่อย เมื่อได้เห็นความสำเร็จของน้อง ๆ นั่นคือผู้ที่เป็นครู ซึ่งให้ความรักความสนใจ ในด้านการเกษตร ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากความรู้สึกของคุณครูปัญญา นิรพันธ์ โรงเรียนบ้านเหล่า(รัฐราษฎร์บำรุง) จังหวัดแพร่ ที่ว่า
"...ครูรู้สึกปลื้มใจ และภาคภูมิใจมากที่ได้มาอยู่ในอ้อมอกของกันตนา และกรมตรวจ บัญชีสหกรณ์ ที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ และให้ความรู้แก่เด็ก ๆ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะ ให้ทุกโรงเรียน หรือทุกหน่วยงานเห็นความสำคัญของการเกษตร เพราะการเกษตร เป็นวิถีชีวิตของคนไทย อย่างน้อยถ้าเราไมได้ทำเพื่อการตลาด เพื่อการค้า เราก็ยังมี อาหารที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค และเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักความอดทน ความขยัน และรู้จักปรับใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ลดภาวะโลกร้อน และทำให้ โลกใบนี้มีสีเขียวเพิ่มมากขึ้น หากแม้ทีมของเราจะไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่ก็ภาคภูมิใจในความ สามารถของเด็ก ๆ ที่เขาได้ทำอย่างเต็มที่สุดความสามารถของพวกเขาแล้ว..."
หรือแม้แต่คุณครูที่มาจากแดนไกล อย่างคุณครูประไพ เหลียววงษ์ภูธร โรงเรียนวัดสุธาวาส จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อมาดูแลน้อง ๆ แม้จะเจอทั้งปัญหา และอุปสรรคมากมาย คุณครูก็ไม่ยอมแพ้ หวังเพียงแค่ให้น้อง ๆ จะได้มีเวลาเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์ดี ๆ ไปปรับใช้กับชีวิตที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และสามารถนำไป พัฒนาชุมชนของตนเองได้
"..ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนก็สอนเด็ก ๆ ในเรื่องการทำบัญชีอยู่บ้าง แต่การที่เด็ก ๆ ได้ เข้ามาเรียนรู้ตรงนี้ทำให้พวกเขาสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน รู้จักความสามัคคี มีคุณธรรม และสามารถนำกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองได้ และ ที่สำคัญเด็กก็ได้รับแบบอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่ เพราะตอนนี้เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากสื่อ จากตำรามากมาย แต่แบบอย่างจากผู้ใหญ่จะป็นตำราชั้นดี ที่เด็กสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง..." คำว่า "ครู" เป็นคำง่าย ๆ สั้น ๆ แต่มิใช่คนทุกคนจะเป็นครูได้ เพราะครูต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการลองผิดลองถูกให้แน่ใจเสียก่อน แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง ผ่านทางความรู้สึกรักและเสียสละมายังลูกศิษย์ โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตร ที่ต้องการจะปลูกฝัง ให้กับเยาวชนไทย ดังเช่น ครูทิพย์วรรณ มีรักษา โรงเรียนอัมพวันวิทยา จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งครั้งหนึ่งได้นำนักเรียนเข้าสู่ การแข่งขันในรอบแรก กล่าวให้ข้อคิดแก่เด็ก ๆ ว่า
"ครูได้ทดลองทำจุลินทรีย์สังเคราะห์ที่ยังไม่มีใครทำ ขณะนี้เป็นภาวะโลกร้อน เราก็จะทำวิกฤตให้เป็นโอกาส คือใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงซึ่งใช้กับผักต่าง ๆ เจริญเติบโตได้ดี...ไร้สารพิษ..."
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความรู้สึกส่วนหนึ่งของผู้เป็นครู ผู้ที่ใคร ๆ มักเปรียบเปรยครูเสมือนเรือจ้าง แต่ต่างเพียงแค่ค่าโดยสารของเรือลำนี้มิใช่เงินตรา หากแต่ว่าเป็นความภาคภูมิใจ ที่ได้เห็น ผู้โดยสารประสบความความสำเร็จเพียงแค่นั้น เด็ก ๆ สามารถ คิดและลงมือทำให้เกิดผลสำเร็จได้จริง... แต่หากได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่หลาย ๆ ฝ่ายช่วยปลูกฝัง เฝ้าดู ให้กำลังใจ ช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส อนาคตของเด็กไทย จะก้าวไกลอย่างมั่นคง...แน่นอน |