"Visit Day" พลิกฟื้นธุรกิจภาคสหกรณ์ไทยในพื้นที่
โครงการหลวงดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
 
       เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี
เป็นองค์ประธานเปิดงาน "วัน Visit Day พลิกฟื้นธุรกิจภาคสหกรณ์ไทย
ในพื้นที่โครงการหลวงผ่านกลไกการบัญชี และฉลองครบรอบ 17 ปี
สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด"  โดยมี
นายอนันต์  ภู่สิทธิกุล  อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
กล่าวรายงาน นายอมรพันธ์  นิมานันท์  ผู้ว่าราชการจังหวัด
เชียงใหม่
  นายวิทยา  ฉายสุวรรณ  ผู้ตรวจราชการ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  คุณหญิงประจิตต์  กำภู ณ อยุธยา 
กรรมการฝ่ายบัญชีและการเงิน มูลนิธิโครงการหลวง
ดอยอินทนนท์
  และผู้บริหารกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เฝ้ารับเสด็จ
พร้อมทั้งร่วมพิธีเปิดงาน ณ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวง
ดอยอินทนนท์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่
       โอกาสนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประทานของที่ระลึก
แก่สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงดอยอินทนนท์ จำกัด
และประทานทุนการศึกษาแก่โรงเรียนในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ 
จากนั้น ทรงตัดริบบิ้นเปิด CO-OP Shop พร้อมทั้งเยี่ยมชมกิจการ
ของสหกรณ์ฯ  ตลอดจนนิทรรศการทางวิชาการของกลุ่มวิสาหกิจ
ชุมชน กองทุนหมู่บ้าน โครงงานนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่
โครงการหลวงดอยอินทนนท์ และโปรแกรมระบบบัญชีของ
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในวันเดียวกันนี้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี 
เป็นองค์ประธานในพิธีรดน้ำขอพรเพื่อสืบสานประเพณี
สงกรานต์ด้วย 
       ด้าน นายอนันต์  ภู่สิทธิกุล  อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เปิดเผยภายหลังว่า ตามที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการ
พลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกการบัญชี โดยยึดสถาบัน
เกษตรกรเป็นศูนย์กลาง เพื่อกระจายโอกาสในการเข้าถึงการบริการ
และให้สถาบันเกษตรกรเป็นกลไกการสนับสนุนและเชื่อมโยงเครือข่าย
ในชุมชน โดยอาศัยกลไกการบัญชีเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการ
ตรวจวัดฐานะทางการเงินของครอบครัว และการประกอบอาชีพ
ของเกษตรกร  อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายให้รู้จักการมีวินัยทาง
การเงินภายในครอบครัวภายใต้แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
"ช่วยตนเอง  ร่วมคิด  ร่วมทำ  รวมกลุ่มเพื่อพึ่งพาสู่ความยั่งยืน"
       นายอนันต์ กล่าวต่ออีกว่า  โครงการพลิกฟื้นธุรกิจสถาบัน
เกษตรกรผ่านกลไกการบัญชี ได้กำหนดให้มีสหกรณ์การเกษตร
ต้นแบบทุกจังหวัดๆละ 1 แห่ง และสหกรณ์การเกษตรเครือข่าย
อีกจังหวัดละประมาณ 20 แห่ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการบริหาร
งานของสหกรณ์ด้วยการปรับเปลี่ยน 7 มิติ ประกอบด้วย 
มิติการสร้างมาตรฐานบัญชีสถาบัน  มิติการสร้างเครื่องมือ
สารสนเทศ  มิติการสร้างความร่วมมือผู้ตรวจสอบกิจการ 
มิติการสร้างภูมิปัญญาทางบัญชีสมาชิก  มิติการสร้างเครือข่าย
ธุรกิจวิสาหกิจชุมชน  มิติการสร้างความสนใจเกษตรกรรุ่นใหม่
(นักเรียน) และมิติการสร้างอาสาสมัคร/ครูบัญชีอาสา
       สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดสหกรณ์ต้นแบบ
ขึ้นอีก 1 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรโครงการหลวง
ดอยอินทนนท์ จำกัด  ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการหลวง
ที่เป็นพื้นที่พิเศษ  มีประชากรเป็นชาวเขาหลายเผ่าซึ่ง
ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและขายผลิตผลทางการเกษตร
โดยการพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรฯ ในพื้นที่โครงการ
หลวงครั้งนี้ ได้มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
ของสมาชิกในชุมชนและเครือข่ายในพื้นที่ผ่านกลไกการบัญชี
ใน 7 มิติการปรับเปลี่ยน  และได้มีการส่งเสริมอาชีพของ
สมาชิกโดยพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารเงินหมุนเวียน  การบริหาร
สินทรัพย์คงที่  การบริหารสินค้า  การบริหารแหล่งรายได้
และการบริหารค่าใช้จ่ายในรูปแบบ Small Shop เพื่อการศึกษา
เรียนรู้ร่วมกันของชุมชน ก่อให้เกิดทักษะความชำนาญในการ
ทำธุรกิจของสหกรณ์ต่อไป  นายอนันต์ กล่าว