My  Little  Farm  หล่อหลอมเยาวชนสู่การเป็นคนคุณภาพ

       หลายคนคงทราบกันดีว่า ปฏิบัติการค้นหาสุดยอดเด็กไทยหัวใจเกษตร
“My  Little  Farm”  เป็นการส่งเสริม และพัฒนา ให้เยาวชนเห็นความสำคัญ
ของการจัดการด้านการเกษตร   น้องๆ ได้เรียนรู้  และลงพื้นที่จริง  ณ  กันตนา 
มูฟวี่ทาวน์  ศาลายา  จังหวัดนครปฐม  แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าเวลา
ที่เหลือ นอกเหนือจากการทำเกษตร (ซึ่งบางคนอาจเรียกว่า  เวลาว่าง)
น้องๆ เขาทำอะไรกันบ้าง
       ในทุกอาทิตย์  น้องๆ จะได้รับการอบรมจากวิทยากรในสาขาต่างๆ 
ในหัวข้อที่สามารถนำมาประยุกต์กับแปลงของตนเองได้  อาทิ 
"ศรแดงกับเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการผลิต"   "มารู้จักการเลี้ยงสัตว์กันเถอะ"  
"แมลงกับการเกษตร"    "การนำของจากธรรมชาติมาทำปุ๋ย"  เป็นต้น  
       น้องเนม และ น้องชวน  จากจังหวัดแพร่   บอกว่า  ได้นำความรู้ที่ได้รับ
จากการอบรมมาใช้ประโยชน์ในแปลงของตนเองในเรื่องการทำปุ๋ยหมักใช้เอง   
      
       "...การอบรมก็ได้ใช้ประโยชน์ใน เรื่องปุ๋ยครับ  เราก็มาทำปุ๋ยหมักเอง เพื่อ
ใส่ในแปลงผักครับ  แต่ต้องรอ  เพราะมันเป็นระยะยาว..." 

       ในขณะที่ น้องอาร์ท   และน้องออฟ  จากจังหวัดสกลนคร  กล่าวเพิ่มเติมว่า 
การอบรมให้ประโยชน์เป็นอย่างมาก  ทั้งในเรื่องของการกำจัดแมลง  การเพาะพันธุ์
พืชต่างๆ  และการอยู่แบบพอเพียง
       นอกจากความรู้ที่ได้จากการอบรมแล้ว  น้องๆ ได้มีช่วงเวลาที่จะได้ผ่อนคลาย
ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน  ในกิจกรรม “Drama  School”  ที่เปิดโอกาสให้
น้องๆ ได้แสดงทักษะในเรื่องของการเต้น  การแสดง  หรือเป็นพิธีกร ซึ่งจะเป็นการ
ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีให้แก่ตนเอง ซึ่งน้องๆ หลายคน
บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า  ชอบกิจกรรมนี้มาก 
       อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่เราเห็นได้จากกิจกรรม “Drama  School”  ก็คือ 
ความสัมพันธ์ของน้องๆ ทั้ง 50  คน ที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว   น้องอ้น  จากจังหวัด
ศรีสะเกษ   เล่าให้ฟังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม  ว่า  รู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินใจที่ได้
มีการทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ  และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

      "...สนุกสนานเพลิดเพลินใจที่ได้มีการทำกิจกรรมครับกับเพื่อนๆ ทั้ง 10  LF 
ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมนันทนาการ   กิจกรรมการปลูกผักต่างๆ   กิจกรรมสนทนา  
และภาษาต่างถิ่น   ซึ่งตอนนี้ผมพูดได้ทั้งภาษาใต้และภาษาเหนือครับ..."

       ในขณะที่ น้องทอม  จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  บอกว่า  มีการแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนๆ ทีมอื่น  ไม่ว่าจะเรื่องของการจัดการฟาร์มของตน 
หรือการเรียนรู้ความมีน้ำใจระหว่างเพื่อนต่อเพื่อน

      "...มีการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนทีมอื่น ในเรื่องเกี่ยวกับการไล่แมลง 
ว่าวัสดุนี้ใช้ได้หรือเปล่า  การมีน้ำใจซึ่งกันและกัน  การแลกเปลี่ยนอุปกรณ์
ซึ่งกันและกัน…"

       ปิดท้ายที่  น้องเต๋า  จากจังหวัดปราจีนบุรี  บอกว่ามีความประทับใจน้ำใจ
ของเพื่อนๆ ทั้ง 50 คน  ซึ่งน้องเต๋าชี้ให้ดูเพื่อนคนหนึ่งในโครงการที่ปั่นจักรยาน
ผ่านมา  และเล่าให้ฟังต่อว่า  เขามีน้ำใจให้ตนยืมมีดใช้ในการทำการเกษตรด้วย

       "...ประทับใจน้ำใจเพื่อนๆ  ในโครงการเราทั้ง 50 คน  ก็ช่วยเหลือ
เกื้อกูลกันดีครับ  เพราะทุกคนก็เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  อย่างน้องคนนี้ ผมไปยืมมีดเขามา 
เขาก็ให้ยืมครับ  เขามาจากฝั่งโน้น... 
       ...พอทำงานเสร็จแล้ว  เราก็ไปเดินคุย  ขากลับพอเลิกงานแล้วเย็นๆ
พวกผมจะไปฝั่งโน้นกัน  ไปคุย  ไปดูแปลงผักเขา  ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 
เกิดความประทับใจ  และได้แนวคิดมาปรับใช้กับไร่เยอะครับ  เราได้ไปดูว่า 
พืชแบบนี้  เขาทำแบบนี้นะ  ปลูกอย่างนี้  เราก็นำความคิดเหล่านั้นมาปรับใช้ได้ 
ถ้าไม่ค่อยดีก็บอกเขา  ถ้าเรามีอะไรดีดี  เราก็บอกเขา…"

       นอกจากนั้น  สิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแข่งขัน “My  Little  Farm” 
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า   เรื่องของการทำบัญชีเป็นส่วนหนึ่งของการทำเกษตร 
ซึ่งจะช่วยให้เรารู้รายรับ  รู้รายจ่าย  ในการบริหารจัดการฟาร์มของตนเอง   
น้องฝน  จากจังหวัดสุรินทร์  บอกว่า  มีการบันทึกบัญชีทุกวันในขณะที่อยู่ที่ฟาร์ม
แห่งนี้  แต่เดิมก็เคยจดบัญชีทุกวัน  แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่ก็ได้รับความรู้มากขึ้น 
ทำให้จดบัญชีได้ละเอียดมากขึ้นอีกด้วย 
      
       "...ทำบัญชีทุกวันค่ะ  เราก็จะมีการคิดค่าแรงให้กับตัวเองด้วย  มันก็จะมี
ต้นทุน วัสดุอุปกรณ์กับค่าแรงด้วย   ส่วนใหญ่  เราจะแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
คือ การอนุบาลลูกปลาดุกกับการปลูกพืชค่ะ  มาที่นี่  บัญชีเขาสอนว่า  บัญชีนี้
เป็นรายจ่ายในครัวเรือน  หรือรายจ่ายในการประกอบอาชีพ  รายจ่ายในครัวเรือน
ก็จะแบ่งเป็นค่าน้ำ  ค่าไฟ  ค่าอาหาร  มันก็จะละเอียดมากขึ้น…
       ...เรามอบหมายหน้าที่กัน  โดยหนูเป็นคนรับผิดชอบเรื่องบัญชี  พอเรามี
รายรับ-รายจ่าย  หนูก็จะมาจดบันทึก  พอตอนเย็นมีการประชุมวางแผน  เราจะ
มีประชุมทุกวัน  เราก็จะมาบอกเพื่อนว่า วันนี้เรามีรายจ่ายอะไรไปบ้าง…"

       นี่คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่น้องๆ ทำ นอกเหนือจากการลงพื้นที่ในฟาร์ม
ของตนเอง  ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าเวลาว่างอีกต่อไปแล้ว  แต่เป็นเวลาแห่งการ
เก็บเกี่ยวประสบการณ์  นับว่า เมื่อจบการแข่งขัน  น้องๆ ทั้ง 50  คน  คงจะได้
รับหลายสิ่งอย่างมากกว่าคำว่า “ชัยชนะ” ที่เป็นเพียงค่านิยมของคนในสังคม
เท่านั้น  หากทว่า “ประสบการณ์” ที่ช่วยหล่อหลอมให้น้องๆ ทั้ง 50 คน 
ได้ก้าวเข้าไปสู่ “โลกแห่งความเป็นจริง”  ได้อย่างแข็งแกร่ง  และคงจะเป็น
สิ่งการันตีได้ว่า  น้องๆ เหล่านี้ จะกลายเป็น “คนคุณภาพ” ของสังคมต่อไป