ยุวเกษตรกรไทย ยิ้มรับ ประสบการณ์ ใน My Little Farm มุ่งสู่การเป็น เกษตรกรตัวจริง
การแข่งขันปฏิบัติการค้นหาเด็กไทยหัวใจเกษตร My Little Farm มิใช่เกิดขึ้นเพื่อจัดลำดับ ความเก่ง หรือ ความไม่เก่ง หากทว่าเป็นการ สั่งสมความรู้ด้านการเกษตร ที่ถือเป็นฐานรากในการพัฒนาเศรษฐกิจของ ประเทศ ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ รวมไปถึงการเรียนรู้ด้านบัญชีควบคู่ไปกับ การจัดการด้านการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อให้เยาวชนไทยหันมาใส่ใจ กับอีกอาชีพหนึ่งที่ทำให้ประเทศของเรายืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่หลายคนอาจเรียกกันว่า ปัญหา หรือ อุปสรรค ไม่ว่าจะเป็น พืชผักไม่เจริญเติบโต ดินแข็ง น้ำท่วมแปลง แมลงกัดกินพืช วัชพืช ที่ต้องกำจัด เป็นต้น แต่น้องๆ ในโครงการหลายคนถือเอาเรื่องเหล่านี้เป็น ประสบการณ์ ที่จะต้องเรียนรู้และหาวิธีการจัดการกับมันอย่างมีเหตุมีผล ทั้งการค้นคว้าหาความรู้จากหนังสือ อินเทอร์เน็ต อาจารย์ พ่อแม่พี่น้อง หรือวิทยากรที่มาให้ความรู้เป็นประจำทุกสัปดาห์
น้องวิ และน้องต้น จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าให้ฟังว่า ได้โทรศัพท์ ไปขอคำแนะนำจากพี่ชายในเรื่องการกำจัดแมลงที่มากัดกิน และทำลายพืชผัก ของตน จึงได้แนวคิด กาวดักแมลง มาใช้กับฟาร์มของตนเองควบคู่กับการ ใช้น้ำหมัก
"...เราใช้ฟิวเจอร์บอร์ด แล้วตัดเป็นแผ่นๆ สี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วเอากาว มาทา แล้วก็ใส่ถุงเล็กๆ แล้วเอากาวทาที่ถุงพลาสติก แล้วถ้าได้แมลงเยอะๆ เราสามารถดึงออกได้ ...การใช้น้ำหมักได้ผลน้อย เพราะอาทิตย์นึงได้ฉีดครั้งเดียว จริงๆ น้ำหมัก ต้องฉีดทุกวัน เพื่อกำจัด ถ้าสมมติว่าอาทิตย์นึงฉีดครั้งเดียว ไม่มีผลอะไรมาก"
ในขณะที่ น้องศักดิ์ จากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า ตนและเพื่อนๆ ในทีม ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในการทำน้ำหมักครั้งแรก ที่ได้ผลไม่เต็มร้อย จึงได้คุย และปรึกษากับอาจารย์ ลองทำน้ำหมักอีกครั้งหนึ่ง
"...มันต่างกันจากความเข้มครับ ฤทธิ์ของน้ำมันไม่เหมือนกัน ส่วนผสม ของเรามี ใบสาบเสือ ใบสะเดา แต่ครั้งแรกเราไม่ได้ตำครับ ซึ่งเราได้เรียนรู้ จากที่เราทำครั้งที่แล้ว มันได้ผล แต่มันไม่เต็มร้อย ก็เลยคุยกันเอง แล้วก็มี อาจารย์มาแนะนำด้วยครับ..."
ส่วนน้องแนน จากจังหวัดสตูล กล่าวว่า ในช่วงที่ได้กลับบ้าน ได้ไป ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และถามผู้ปกครอง ถึงวิธีการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแปลงของตนเช่นกัน
"ก็ค้นคว้าพอสมควรค่ะ อย่างเราก็จะใช้อินเทอร์เน็ต แล้วก็ค้นคว้าจาก หนังสือบ้าง สอบถามจากผู้ปกครองบ้าง เพราะว่าจากการที่เข้ามาจัดการในแปลง สิ่งที่พบบางอย่างไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งไว้ เราก็กลับไปคิด แล้วก็มาแก้ไขในแปลง ต่อไปค่ะ
จะเห็นได้ว่าวิธีการที่น้องๆ ใช้ในการจัดการด้านการเกษตรระหว่างการผลิต ต่างก็มีวิธีการที่ต่างกันไป แต่จุดมุ่งหมายที่เหมือนกันคือ อยากเห็นผลผลิต ที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุน ปฏิบัติการค้นหาเด็กไทยหัวใจเกษตร จึงนับเป็นการเสริมสร้างให้น้องๆ รู้จักหาวิธีการจัดการบริหารพื้นที่เกษตรของตนเอง สิ่งที่พบได้ชัดเจนจากโครงการนี้ คือ เด็กรุ่นใหม่เรียกปัญหา/อุปสรรค เป็น ประสบการณ์...เพื่อให้มีกำลังใจและใส่ใจในการเกษตรมากขึ้น เทียบเท่า เกษตรกรตัวจริง
|