กตส.สนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ
 ปลูกฝังเยาวชนให้รู้จักการจดบันทึกบัญชี ส่งเสริมการออม
 ผ่านกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน
 
      กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดกิจกรรม "วันสหกรณ์นักเรียน”
ประจำปี 2567 เดินหน้าวางรากฐานการทำบัญชีและส่งเสริมการออมสู่เด็กและเยาวชน
พร้อมส่งเสริมการทำบัญชีกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน สนองตามแนวพระราชดำริสมเด็จ
พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้
โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Development) ในการพัฒนาแบบองค์รวม
ถ่ายทอดสู่ครอบครัวและชุมชน
 
      นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า
ด้วยสายพระเนตรอันกว้างไกลของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปลูกฝังแนวทางการปฏิบัติตามอุดมการณ์
หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่เด็กและเยาวชน จึงมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน
2534 ให้มีการจัดตั้งสหกรณ์นักเรียนขึ้นภายในโรงเรียน โดยเริ่มต้นในโรงเรียนตำรวจ
ตระเวนชายแดน ภายใต้โครงการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตาม
พระราชดำริ ต่อมาจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 7 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสหกรณ์นักเรียน
เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี และเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ด้านสหกรณ์ในโรงเรียนให้แพร่หลาย
      กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่ได้เข้าร่วมสนองงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ
พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน
การดำเนินงานโครงการเริ่มต้นจากโครงการส่งเสริมกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนและสานต่อ
ด้วยโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน รับผิดชอบในการวางระบบบัญชี และให้ความรู้
ด้านการบัญชี ที่เหมาะสมแก่ครู และนักเรียน โดยน้อมนำพระราชดำริใช้เป็นแนวทางการ
ปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มุ่งให้ "เด็กและเยาวชนเป็น
ศูนย์กลางในการพัฒนา” โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาคน พัฒนาการเกษตร
สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมและเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม เชื่อมโยงทั้งมิติเศรษฐกิจ
สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม โดยถ่ายทอดการจัดทำบัญชีในกิจกรรมสหกรณ์นักเรียน
เพื่อฝึกให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ด้านบัญชี ให้รู้จักการคิดคำนวณ รู้จักการวางแผน
ในการจำหน่ายสินค้าและผลผลิต ปลูกฝังให้รักการจดบันทึกบัญชี อันจะเป็นพื้นฐาน
สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง ครอบครัวและชุมชน รู้จักใช้บัญชีเป็นเครื่องมือ
นการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งในปี 2567 มีเป้าหมาย
ดำเนินการในโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวน
ชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานคร สำนักงาน
พระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รวม
51 จังหวัด 527 โรงเรียน จำนวน 1,501 ราย นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดการทำบัญชีต้นกล้า
เศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน จำนวน 4,500 ราย อีกด้วย
       "การดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มีการกำหนดเป้าหมาย
ในเชิงปริมาณ 527 โรงเรียน จำนวน 2,048 ราย มีผลสัมฤทธิ์ให้กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความ
เข้าใจ 10% ให้ยกระดับการจัดทำบัญชีได้ 15% ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่ากลุ่มเป้าหมาย
ที่มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำบัญชี จำนวน 1,777 ราย ในส่วนของการยกระดับการ
จัดทำบัญชี จากจำนวน 527 โรงเรียน สามารถยกระดับได้ 174 โรงเรียน”
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว
        สำหรับวันสหกรณ์นักเรียนประจำปี 2567 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมกับ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตาม
พระราชดำริฯ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง การจัดทำบัญชี
รับ - จ่ายในครัวเรือนให้กับนักเรียนและผู้ที่เข้ามาร่วมชมงาน เพื่อให้บัญชีเป็นเครื่องมือในการ
วางแผนในการใช้จ่ายของตนเองและขยายผลไปสู่ครอบครัว นำไปสู่การสร้างวินัยทางการเงิน
และเกิดการออมในอนาคต รวมทั้งแนะนำการบันทึกบัญชีโดยใช้แอปพลิเคชัน Smart Me
ซึ่งเป็นนวัตกรรมของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับเกษตรกรเยาวชน
และบุคคลทั่วไปใช้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพได้ทุกที่ ทุกเวลา
ผ่านอุปกรณ์ Smart Phone ทำให้ผู้จดบันทึกรู้ตัวตนและวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้จะมีการแจกสมุดจดบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงและบัญชี
รับ - จ่าย ในครัวเรือนให้กับเยาวชนอีกด้วย
        กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ให้กับเยาวชนตระหนักว่า การทำบัญชี
จะช่วยให้รู้รายรับ รายจ่ายของตนเอง รู้จักการวางแผนทางการเงิน และการเตรียมการรับมือ
กับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้าได้ เพราะข้อมูลจากการบันทึกทางบัญชี
เหล่านี้ จะสามารถนำมาวิเคราะห์ในการวางแผนการดำเนินชีวิตให้ตนเองและครอบครัว
รวมถึงการใช้จ่ายเงินในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการออม ใช้จ่ายเงินอย่าง
ประหยัด คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย สู่คุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน