กตส.ยกย่องครูบัญชีอาสา แบบอย่างการพลิกชีวิต โดยใช้บัญชีนำทาง
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยกย่องเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับประเทศ
ประจำปี 2567 เป็นแบบอย่างความสำเร็จในการนำ "บัญชี เป็นวัคซีนแก้ความจน ลดต้นทุน
ลดรายจ่าย ลดหนี้สิน เพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพและสามารถนำความรู้ด้านบัญชีมา
ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในชุมชนให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางสาวอัญมณี ถิรสุทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า "ครูบัญชีอาสา เป็นกลไก
สำคัญที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เป็นเครือข่ายในการขับเคลื่อนงาน
ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีขยายผลไปสู่ภาคประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถ
ใช้องค์ความรู้ด้านบัญชี ช่วยวางแผนการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
เพิ่มรายได้ และมีเงินเหลือเก็บออม นำไปสู่ความมั่นคงในชีวิต ปัจจุบันมีครูบัญชีอาสาที่ขึ้นทะเบียนและ
ปฏิบัติงานกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน 5,636 คน ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำบัญชี
สู่พื้นที่ภาคการเกษตร และเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เกษตรกรและประชาชน โดยในแต่ละปีกรมตรวจบัญชี
สหกรณ์จะคัดเลือกครูบัญชีจากทั่วประเทศที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญในการประกอบ
อาชีพด้านการเกษตร และนำบัญชีมาปรับเปลี่ยนชีวิตตนเองและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับประเทศ
นางอวยพร ราชเล็ก เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม จังหวัดพัทลุง ผู้รับคัดเลือกให้เป็น
เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2567 ระดับประเทศ เปิดเผยว่า มีความคิดริเริ่มในการทำบัญชี
มาตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินและคิดว่าควรทำอย่างไรให้มีรายได้เสริม
เพิ่มขึ้นหรือลดรายจ่ายลง จึงเข้าไปขอรับองค์ความรู้ด้านการทำบัญชีครัวเรือนจากสำนักงานตรวจบัญชี
สหกรณ์พัทลุง โดยมุ่งมั่นในการนำความรู้ทางบัญชีไปวิเคราะห์ต้นทุน เพื่อแก้ไขปัญหาในการประกอบ
อาชีพ หลังจากได้มีการบันทึกบัญชี ทำให้รู้ว่างานเกษตรที่ทำอยู่ มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน
จึงได้นำข้อมูลทางบัญชีที่มีการบันทึกไว้มาดูย้อนหลัง เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาในเรื่องการลดต้นทุนอาชีพ
พัฒนาควบคู่ไปกับการทำสวนเกษตรผสมผสาน โดยการยกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาต้นทุนสูงมาใช้เป็น
ปุ๋ยหมักแทน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้ฐานะทางการเงินดีขึ้นตามลำดับ
หลังจากที่สามารถพึ่งพาตนเองและครอบครัวผ่านวิกฤติด้านเศรษฐกิจไปได้ จึงมีแนวคิดในการถ่ายทอด
ความรู้ด้านบัญชี เผยแพร่สิ่งที่ตนเองทำและประสบความสำเร็จไปสู่ผู้คนในชุมชน เยาวชนและผู้ที่สนใจ
ทั่วไป โดยเปิดศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร
(เครือข่าย) รวมทั้งจัดตั้ง "ชุมชนคนทำบัญชี สร้างแรงจูงใจจากความสำเร็จที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า
จากผลความสำเร็จของตนเองให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ มุ่งหวังให้เกษตรกรหันมาให้ความสำคัญกับการจด
บันทึกทางบัญชี ศึกษาความสำเร็จของครูบัญชี เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน การใช้จ่าย การลงทุน
ในการเปลี่ยนแปลงการทำเกษตรของตนเองไปในทิศทางที่ถูกต้อง
ด้านนางสามัญ โล่ห์ทอง ครูบัญชีอาสา จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น
สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2567 รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ เปิดเผยว่า มีอาชีพทำนามาตั้งแต่สมัย
ปู่ย่าตายาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทำนาแบบดั้งเดิม ไม่รู้รายรับ รายจ่าย ไม่รู้กำไรขาดทุน กระทั่ง
ในปี 2548 ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างภูมิปัญญาทางบัญชีแก่เกษตรกรไทยของกรมตรวจบัญชี
สหกรณ์ ทำให้ได้รับ ความรู้ด้านการบันทึกบัญชีรับ - จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพมา
ประยุกต์ใช้ และทราบว่าอาชีพทำนานั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูง จำเป็นต้องนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์
วางแผนการผลิต สิ่งแรกเริ่มจากการปรับตนเอง ปรึกษากับครอบครัวและลงมือทำ ปรับเปลี่ยนจากการ
ปลูกข้าวโดยใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้แทนปุ๋ยเคมี ซึ่งช่วยลดต้นทุน
และเพิ่มมูลค่าข้าวเปลือกแปรรูปเป็นข้าวสารอินทรีย์ จัดจำหน่ายเอง เพราะสามารถเป็นผู้กำหนดราคา
สินค้าเองได้ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ ยังนำข้อมูลทางบัญชีมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้สถานะของครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็พัฒนาตนเองเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) นำความรู้ไป
ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรและผู้นำชุมชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดบันทึกรายได้ ค่าใช้จ่าย
ของตนเองทุกวัน เพื่อสร้างความรับผิดชอบ เกิดความเคยชิน บันทึกบัญชีอย่างสม่ำเสมอให้ติดเป็นนิสัย
และได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรไปสอนแนะการจัดทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุน
ประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
เช่นเดียวกับ นางประสาน พาโคกทม ครูบัญชีอาสา จังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็น
เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2567 รองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน
ทำไร่นาสวนผสม มีความคิดริเริ่มในการทำบัญชีมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ยังไม่เป็นระบบ กระทั่งในปี 2560
สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ร้อยเอ็ด เข้ามาให้คำแนะนำในการจดบันทึกทางบัญชีที่ถูกต้อง ทำให้
สามารถนำข้อมูลวิเคราะห์มาวางแผนในการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากอดีตที่ยังไม่ได้จด
ยังไม่ได้หาเหตุผลในการใช้จ่าย ยังไม่รู้จักวิเคราะห์ต้นทุนในอาชีพที่ทำ ทำให้ไม่สามารถรู้ต้นทุนที่แท้
จริงได้ การจดบันทึกบัญชีเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นสิ่งที่ผ่านมา เมื่อได้จดและนำข้อมูลที่จดมาพิจารณา
วางแผนจึงรู้จักตัวเองมากขึ้น สามารถลดต้นทุนจากอาชีพที่ทำ และรู้จักการต่อยอด เพิ่มมูลค่าสินค้า
เกษตร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ครอบครัวเข้มแข็ง มีเงินออม ไม่มีหนี้สิน และสามารถซื้อที่ดิน
เพื่อขยายการผลิตได้
จากคำกล่าวของครูบัญชีอาสาทั้ง 3 ท่าน เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า บัญชีครัวเรือนมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ต่อการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ทำให้การบริหารการเงินในครัวเรือนมีระเบียบ รู้ถึงที่มาของ
รายรับและที่ไปของรายจ่าย ทำให้รู้จักบริหารเงินในครอบครัวให้มีความพอดีเหลือไว้พอใช้และไว้
เก็บออมอีกด้วย