กตส.สรุปผลงาน ปี 65 เดินหน้าสานต่อภารกิจหลักงานสอบ–งานสอนบัญชี
สร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์และประชาชน
 
       กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สรุปผลงานปี 2565 เดินหน้างานสอบบัญชีและงานสอนบัญชี
แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างระบบการเงิน การบัญชีเข้มแข็ง โปร่งใส พร้อมปลูกฝัง
วินัยทางการเงินที่ดีให้เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศ
 
       นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานและการปฏิบัติงาน
ในรอบปี 2565 ว่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี ของการสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน
ทุกภาคส่วน มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานเพื่อบรรลุภารกิจหลักของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ใน 2 ด้าน คือ
การสอบบัญชี และการสอนบัญชีแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง โปร่งใส
ยกระดับศักยภาพสถาบันเกษตรกรและพัฒนาสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
       ด้านการสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ขับเคลื่อนผ่านผู้สอบบัญชีจำนวน 780 คน แบ่งเป็น
ผู้สอบบัญชีของกรมฯ 500 คน และผู้สอบบัญชีภาคเอกชนและบุคคลอื่น 280 คน ทำหน้าที่สอบบัญชีทุกปี
เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 11,800 แห่ง มีสมาชิกกว่า 12 ล้านคน รวมมูลค่าทาง
ธุรกิจกว่า 3.58 ล้านล้านบาท ให้ได้รับการตรวจสอบบัญชีอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถใช้
ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชี และนำข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและ
อำนวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม เป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยมีการ
อบรมและพัฒนาองค์ความรู้ให้ผู้สอบบัญชีเกิดทักษะและมีความชำนาญด้านบัญชีและเทคโนโลยีสารสนเทศ
อย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะเดียวกันยังดำเนินมาตรการเชิงรุกในการจัดทีมตรวจสอบพิเศษ เข้าประเมินระบบการ
ควบคุมภายในของสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีทุนดำเนินงานสูงทุกสหกรณ์ทั่วประเทศ จำนวน 1,783 สหกรณ์
ทั้งด้านการเงินการบัญชี และระบบการควบคุมภายใน ซึ่งต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและจริงจัง
พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่สหกรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนจากระบบการควบคุมภายในที่ตรวจพบ โดยในปีงบ
ประมาณ 2565 กรมฯ ได้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไปแล้วกว่า 11,723 แห่ง มีการตรวจพบ
ข้อสังเกตและแจ้งให้สหกรณ์แก้ไขปรับปรุง จำนวน 2,176 แห่ง นอกจากนี้ กรมฯ ยังพัฒนาเทคโนโลยี
สารสนเทศและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น แอปพลิเคชัน Smart4M เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้คณะกรรมการ
สหกรณ์ ฝ่ายจัดการ ผู้ตรวจสอบกิจการ สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
การเงินการบัญชีของสหกรณ์และของตนเอง พร้อมนำข้อมูลไปวางแผนบริหารจัดการและสร้างระบบควบคุม
ภายในที่ดีให้เกิดขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต รวมไปถึงการเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่ผู้สอบบัญชีให้มี
ความรู้ด้าน ITเพิ่มขึ้นอีกด้วย
       ด้านการสอนบัญชีแก่เกษตรกรและกลุ่มเป้าหมาย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มพี่น้องเกษตรกร
ซึ่งกรมฯ ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการจัดทำบัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพเพื่อให้
สามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปบริหารจัดการภาคการเกษตรได้ กลุ่มประชาชนทั่วไป ส่งเสริมการทำบัญชี
รู้รายรับ รายจ่าย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวินัยการเงิน การคลังของประเทศ และกลุ่มสุดท้ายคือ
เยาวชน นักเรียน มีเป้าหมายมุ่งไปที่กลุ่มเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งมีกว่า 7 หมื่นคน ทั้งในสังกัด ตชด.
และอื่น ๆ ให้ได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้การจัดทำบัญชีและกระบวนการสหกรณ์ในโรงเรียนได้แก่โครงการ
ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร มีโรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ เช่น กองบัญชาการตำรวจตระเวน
ชายแดน (ตชด.) /สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) /กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ อปท.
จำนวน524 แห่งเข้าร่วม รวมจำนวนนักเรียนและครู ได้รับการอบรม จำนวน 2,037 ราย สานต่อด้วยโครงการ
ต้นกล้าความดี สู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง ขยายผลการถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมการจัดทำบัญชีให้แก่เด็กและ
เยาวชนถ่ายทอดไปสู่ผู้ปกครองและชุมชน โดยมีโรงเรียนเป้าหมายดำเนินการ 405 แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียน
ในสังกัด สพฐ. จำนวน 191 แห่ง และโรงเรียนสังกัด ตชด.อีก 214 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 357 แห่ง คิดเป็น
ร้อยละ 88.15 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2565) นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือ (MOU) กับ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขยายผลการสอนบัญชีเพิ่มขึ้น ผ่าน"โครงการถ่ายทอด
ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียง บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และสหกรณ์นักเรียน ให้แก่
เด็กและเยาวชน" ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 - 2569 มีโรงเรียน 26,754 แห่ง เข้าร่วม รวมจำนวน
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 988,256 คน ในปี 2565 ดำเนินการไปแล้ว 5% รวมจำนวนโรงเรียนทั้งหมด
1,153 แห่ง โดยให้ความรู้แก่ครูผู้สอนและนักเรียน รวมจำนวน 2,306 คน มีเป้าหมายนำไปขยายผลต่อให้
นักเรียนจำนวนรวม 70,333 คน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วใน 334 แห่ง จำนวนนักเรียน 20,294 คน (ข้อมูล ณ
วันที่ 31 สิงหาคม 2565) และตั้งเป้าหมายในปีต่อไป ปีละ 24% จนครบเป้าหมายทั้งโครงการและการ
บูรณาการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในโครงการ"ชุมชนคนทำบัญชี
เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"ดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2565 กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน
ในชุมชนพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกอำเภอทั่วประเทศ 76 จังหวัด ขับเคลื่อนผ่านครูบัญชีอาสาของ
กรมฯถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นชุมชนระดับย่อยครอบคลุมทั่วประเทศ
กำหนดผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 10-30 คน ต่อรุ่น/ชุมชน เป้าหมายทั้งสิ้น 70,000 คน นอกจากนี้กรมฯ ยังได้
ปูพื้นฐานการสร้างวินัยทางการเงินแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยจัดทำวีดิทัศน์การสอนบัญชีให้รูปแบบ
5 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยกลาง ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ และภาษายาวี ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้
ด้วยตนเอง เป็นเครื่องมือนำไปสู่การใช้ชีวิตอย่างมีวินัยทางการเงินและตระหนักถึงคุณค่าการออมอีกทางหนึ่ง
        อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสในระบบสหกรณ์ได้
ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงได้เน้นย้ำถึงการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนสหกรณ์
ทุกภาคส่วน ตั้งแต่คณะกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ ผู้ตรวจสอบกิจการ และสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องร่วมกัน
ดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองและสหกรณ์ ต้องรู้หน้าที่ ปฏิบัติงานตามระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อความโปร่งใส
รวมไปถึงได้เน้นย้ำให้สมาชิกมีความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการสหกรณ์ มีความตระหนักและมีส่วนร่วมใน
การตรวจสอบการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ เพื่อดูแลรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง และรับรู้ข้อมูล
ทางบัญชีสหกรณ์ทั้งภาพรวมและของตนเอง เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์ และสามารถป้องกัน
ปัญหาการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นได้
        ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังเดินหน้าสานต่อภารกิจสร้างความเข้มแข็งด้านการเงิน การบัญชีแก่สหกรณ์
กลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง โปร่งใส เพื่อให้สหกรณ์ เป็นองค์กรที่มุ่งประโยชน์และเป็นที่พึ่งแก่สมาชิกอย่าง
แท้จริง รวมถึงสอนแนะการทำบัญชีแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้เกิดต้นทุนการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักใช้บัญชีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างวินัยทางการเงิน สร้างความ
เข้มแข็งให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนได้อย่างยั่งยืน