กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งยกระดับมาตรฐานการสอบบัญชี
สร้างความโปร่งใสในระบบสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์
พร้อมควบคุมคุณภาพการดำเนินงานตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด
แนะสมาชิกร่วมตรวจสอบการบริหารจัดการและการทำธุรกรรมของ
ตนเอง ลดความเสี่ยงเหตุทุจริตในสหกรณ์
นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ได้ขับเคลื่อนงานตามภารกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
โดยวางระบบการตรวจสอบการเงินการบัญชีของสหกรณ์ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการบริหารจัดการ
และการประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
ได้รับการตรวจสอบบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐาน มีระบบการควบคุมภายในที่ดี สามารถดำเนินธุรกิจ
ได้อย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก โดยในปัจจุบันมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย
ที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต้องเข้าปฏิบัติงานตรวจสอบบัญชี จำนวน 11,800 แห่ง ได้เข้าดำเนินการ
แล้ว จำนวน ๙,๘๑๖ แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ ๘๓.๑๙ โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สามารถ
นำงบการเงินเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ได้ ๖,๖๑๑ แห่ง ซึ่งทำให้สมาชิกได้รับทราบผลการดำเนินงาน
ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของสหกรณ์ที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการเกิดเหตุ
ทุจริตในสหกรณ์หลายแห่ง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงมีมาตรการเชิงรุกในการยกระดับมาตรฐาน
การสอบบัญชีให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีและการ
พัฒนาสมรรถนะบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ดังนี้
๑. การพัฒนาระบบการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กรมฯ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการ
ตรวจสอบบัญชี ทั้งด้านความถูกต้อง ความแม่นยำ และความรวดเร็วในการทำงาน โดยดำเนินการ
ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเองและการควบคุม
กำกับคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีภาคเอกชน ให้ทำการตรวจบัญชีอย่างโปร่งใส เป็นไป
ตามมาตรฐาน เพื่อให้สหกรณ์สามารถใช้ประโยชน์จากผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจาก
ผู้สอบบัญชีไปปรับปรุงการบริหารจัดการและอํานวยประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม เพื่อให้การ
สอบบัญชีสหกรณ์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทั้งนี้
ได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบบัญชี และต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการ
ตรวจสอบบัญชีโดยเคร่งครัด ตลอดจนต้องมีการให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสหกรณ์
ทั้งนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างระบบการควบคุมภายในที่ดีในสหกรณ์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะส่งผล
ให้สหกรณ์สามารถป้องกันการทุจริตได้ โดยหากมีการตรวจสอบพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการควบคุมภายใน
หรือพบการทุจริตในสหกรณ์ ผู้สอบบัญชีจะต้องเสนอข้อสังเกตให้ผู้บริหารของสหกรณ์ทราบโดยเร็วเพื่อ
ให้การปฏิบัติงานสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐาน รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือ
ช่วยอำนวยความสะดวกให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีระบบการเงินการบัญชีและมีการควบคุมภายในที่ดี
อาทิ การส่งเสริมการจัดทำบัญชีสหกรณ์ด้วยโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (FAS) เพื่อช่วยให้
การบันทึกข้อมูลทางบัญชีถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และสามารถปิดบัญชีประจำปีได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริหาร
สหกรณ์สามารถนำข้อมูลสารสนเทศทางการเงิน มาใช้ในการวางแผนและการตัดสินใจได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สหกรณ์และสมาชิก รวมทั้งได้ผลักดันให้สหกรณ์ในพื้นที่
ต่อยอดการใช้ข้อมูลจากโปรแกรมระบบบัญชีด้วยการนำ Application Smart4M มาใช้ในการบริหาร
จัดการข้อมูล เพื่อให้สมาชิก คณะกรรมการ ผู้สอบบัญชี และผู้กำกับดูแลสหกรณ์ สามารถใช้ประโยชน์
ในการตรวจสอบข้อมูล ติดตาม ความเคลื่อนไหว และความผิดปกติของรายการทางการเงิน เพื่อหา
แนวทางป้องกัน ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อสหกรณ์ และสมาชิกสามารถตรวจสอบฐานะทางการเงิน
ของตนเองได้ตลอดเวลา
๒. การพัฒนาสมรรถนะบุคลากร ให้มีความเป็นมืออาชีพและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น
ทั้งด้านความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพ ด้านสมรรถนะไอที ด้านความรู้เฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจที่ตรวจสอบ
และที่สำคัญคือ การพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร เพื่อพัฒนาทักษะให้ผู้สอบบัญชีสามารถเป็น
ที่ปรึกษาด้านการเงินการบัญชีให้แก่สหกรณ์และผลักดันให้สหกรณ์มีการบริหารจัดการด้านการเงินการ
บัญชีที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ โดยกรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพของผู้สอบบัญชีสหกรณ์มาอย่าง
ต่อเนื่อง ทั้งในด้านการจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานทั้งในเชิงวิชาการและทาง
เทคนิค อาทิ การปฏิบัติงานตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การให้ข้อเสนอแนะในการวางระบบการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันข้อ
ผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น และสามารถวางแนวทางการทำงานเพื่อแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่
เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตอบสนองกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ที่หลากหลายและมีความ
ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้สอบบัญชีสหกรณ์ มีความเข้าใจและก้าวทันความก้าวหน้าทางวิทยาการ
และเทคโนโลยีด้านสอบบัญชี มีการปรับตัวและปรับวิธีการทำงานให้มีความพร้อมรับมือในทุก ๆ ด้าน
และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีมาตรฐาน รวมไปถึงส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้
ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ทำการ
ตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและการ
ดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมถึงการประเมินผลการควบคุมภายใน
การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ และการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสร้างความ
เชื่อมั่นให้กับสมาชิกได้ว่า การบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ มีความโปร่งใสเชื่อถือได้
"นอกจากการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความโปร่งใส
ในระบบสหกรณ๋ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในขบวนการสหกรณ์ ทั้งคณะกรรมการ
สหกรณ์ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตรวจสอบกิจการ รวมไปถึงสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะต้องร่วมกัน
ดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนเองและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์และ
กลุ่มเกษตรกร จึงจะสามารถป้องกันการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นได้ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
กล่าว