กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รุกขยายผลการใช้งานโปรแกรมระบบบัญชี
ธุรกิจรวบรวมและแปรรูปน้ำยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ คาดอนาคต
จะเดินหน้าธุรกิจรวบรวมและแปรรูปน้ำนมดิบข้าวเปลือกและปาล์มน้ำมัน

        
       นายสิงห์ทอง ชินวรรังสี อธิบดีกรมตรวจบัญชี
  สหกรณ์ เปิดเผยว่า  หลังจากที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้
  พัฒนาโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร (Cooperative
  Full Pack  Accounting  Software : FAS) ให้ครอบคลุม
  สหกรณ์ที่ดำเนินธุรกิจรวบรวมและแปรรูปน้ำยางพารานั้น
  ขณะนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ลงพื้นที่สำรวจสหกรณ์
  ในภาคใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มดำเนินการนำร่อง
  ไปแล้วบางส่วน  พบสหกรณ์ที่ทำธุรกิจรวบรวมและแปรรูป
  น้ำยางพาราสามารถทำงานได้รวดเร็วและให้บริการสมาชิก
  ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น  กรมฯ จึงเล็งขยายผลไปยังสหกรณ์ที่
  ทำธุรกิจดังกล่าวในภาคอื่นๆ ต่อไป  และคาดว่าจะสามารถ
  ขยายผลการใช้งานได้ถึง 200 สหกรณ์
 
         สำหรับโปรแกรมระบบบัญชีสำหรับธุรกิจรวบรวมและแปรรูปน้ำยางพารา ถือเป็น
โปรแกรมฯ  ที่รองรับธุรกิจเฉพาะด้านเป็นครั้งแรกที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์พัฒนาขึ้นเพื่อ
อำนวยความสะดวกแก่สหกรณ์ที่ทำธุรกิจรวบรวมและแปรรูปน้ำยางพารา ให้สามารถจัดการ
ธุรกิจรับซื้อ-ขายน้ำยางพาราภาคสหกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว  ถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพ
ตลอดจนสามารถรู้จำนวนสมาชิกที่ทำธุรกิจยางพารา  เพื่อจะได้ให้บริการและดูแลได้อย่าง
ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เปิดตัวโปรแกรมอย่างเป็นทางการไปแล้ว
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา  ภายในงานมอบโล่เกียรติคุณแก่สหกรณ์ในโครงการ ๙๙๙
โปรแกรมบัญชี ๙๙๙ ความดีเพื่อพ่อหลวงในพื้นที่ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา  และได้รับความ
สนใจจากสหกรณ์ที่มาร่วมงานเป็นอย่างมาก
          อย่างไรก็ตาม  กรมตรวจบัญชีสหกรณ์คาดว่าในอนาคต  หากโปรแกรมฯ ดังกล่าว
สามารถอำนวยความสะดวกให้สหกรณ์เป็นที่แพร่หลายแล้ว  กรมฯ จะเร่งดำเนินการพัฒนา
โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรให้รองรับการดำเนินธุรกิจเฉพาะของสหกรณ์ไม่ว่าจะ
เป็นธุรกิจรวบรวมและแปรรูปน้ำนมดิบ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน หรือแม้แต่ ธุรกิจรวบรวม
ผลไม้เพื่อให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกสหกรณ์โดยเฉพาะเกษตรกรให้มาก
ยิ่งขึ้น

           “จากการที่กรมฯ ได้นำโปรแกรมระบบรวบรวมและแปรรูปน้ำยางพาราไปทดลอง
นำร่องกับสหกรณ์บางแห่งในพื้นที่ภาคใต้นั้น  แม้ว่าจะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี  แต่กรมฯ
ก็จะต้องพัฒนาระบบต่อไปให้มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการดำเนินงาน
ของสหกรณ์มากที่สุด ในขณะเดียวกัน กรมฯ   ก็กำลังศึกษาเพื่อพัฒนาโปรแกรมฯ ให้รองรับ
กับธุรกิจเฉพาะด้านประเภทอื่นๆ ต่อไปเช่นกัน เพราะการสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคสหกรณ์
จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาชุมชนให้แข็งแกร่งอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายสิงห์ทอง กล่าว