กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มุ่งพัฒนาความรู้การตรวจสอบกิจการ
       สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์ เพิ่มความเชื่อมั่นให้สมาชิก
 
         กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าพัฒนาการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ พร้อมเสริม
         องค์ความรู้ให้ ผู้ตรวจสอบกิจการ ซึ่งเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์
         งานอย่างโปร่งใส เพิ่มความเชื่อมั่น ให้สมาชิกได้รับการดูแลจากสหกรณ์และได้รับ
         ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
 
        นางสาวรัชนี วิชชุลดา ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี กล่าวว่า
 ปัจจุบันระบบสหกรณ์ นับเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีส่วนสำคัญใน
การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจฐานราก การสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์จึงเป็นนโยบายสำคัญ
ที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรม
ตรวจบัญชีสหกรณ์ดำเนินการขับเคลื่อนงานตามภารกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและโปร่งใสในระบบสหกรณ์
ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินงานสนองตามนโยบาย ทั้งในด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่ม
เกษตรกร การควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี รวมถึงกำกับการสอบบัญชีสหกรณ์โดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชน
ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์และเท่าทันกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เป็นอีกภารกิจสำคัญที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนการส่งเสริม
และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งอย่าง
ยั่งยืน
          นางสาวรัชนี กล่าวว่า การตรวจสอบกิจการสหกรณ์ เป็นกลไกสำคัญของระบบการตรวจสอบด้วย
สหกรณ์เอง เป็นการดำเนินงานของสหกรณ์ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ความเชื่อมั่น เพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการ
ปฏิบัติงานของสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีผู้ตรวจสอบกิจการเป็นตัวแทนของสมาชิกที่ได้รับ
เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ทำการตรวจสอบการดำเนินงานทั้งปวงของสหกรณ์ ทั้งด้านการปฏิบัติเกี่ยวกับ
การเงินการบัญชีและการดำเนินธุรกิจตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ รวมถึงการประเมินผลการ
ควบคุมภายในการรักษา ความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ และการตรวจสอบในเรื่องต่าง ๆ เพื่อสร้าง
ความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกได้ว่า การบริหารงานของคณะกรรมการดำเนินการ มีความโปร่งใสเชื่อถือได้
เป็นไปตามหลักการสหกรณ์และมีการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับสหกรณ์
ซึ่งการตรวจสอบกิจการสหกรณ์นั้นเป็นไปตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการ
ของสหกรณ์พ.ศ. ๒๕๖๓ ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบกิจการไว้ว่า จะต้องเป็นสมาชิกของสหกรณ์
นั้นหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ รวมทั้งจะต้องผ่านการอบรม
หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกิจการจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์หรือหน่วยงานอื่นที่ได้รับการ
รับรองหลักสูตรจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในกรณีคณะผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์และ
สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ (ที่มีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ ๕ พันล้านบาท) ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคน
ที่มีคุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี (หมายรวมถึงปริญญาโทหรือปริญญาเอก) ด้านการเงินการบัญชี
การบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ รวมถึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ระเบียบกำหนด จึงจะสามารถมา
สมัครเป็นผู้ตรวจสอบกิจการได้
         ทั้งนี้ เมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ตรวจสอบกิจการแล้ว จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ
กฎหมายสหกรณ์ ระเบียบ ประกาศและคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ ระเบียบและข้อบังคับสหกรณ์
เพื่อให้สามารถตรวจสอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับกระบวนการตรวจสอบกิจการสหกรณ์
มีขั้นตอนดังนี้
         ๑.) การศึกษาและสำรวจเบื้องต้น เป็นขั้นตอนแรกของการปฏิบัติงานตรวจสอบกิจการสหกรณ์
อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ตรวจสอบกิจการมีความเข้าใจเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสหกรณ์ที่ตรวจสอบ เช่น
ลักษณะการดำเนินงาน วิธีปฏิบัติงาน นโยบาย เป้าหมาย กฎหมายและระเบียบปฏิบัติของสหกรณ์ ซึ่งจะ
เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของสหกรณ์และยังสามารถใช้เป็น
หลักฐานในการตรวจสอบได้อีกทางหนึ่ง
          ๒.) การวางแผนการตรวจสอบ เป็นการคิดล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงานจริง การวางแผน
ที่ดีจึงช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายในระยะเวลางบประมาณและอัตรากำลังที่มี
ตลอดจนเป็นทิศทางให้งานดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและ
เกิดประโยชน์สูงสุด
          ๓.) การปฏิบัติงานตรวจสอบ เป็นกระบวนการตรวจสอบ สอบทาน และรวบรวมหลักฐานเพื่อ
วิเคราะห์และประเมินผลการปฏิบัติงานต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามนโยบาย แผนงาน ข้อบังคับและระเบียบปฏิบัติ
ของสหกรณ์ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
          ๔.) การรายงานผลการตรวจสอบกิจการ เป็นการสรุปผลการตรวจสอบที่ผู้ตรวจสอบกิจการ
เห็นว่า จำเป็นต้องรายงานให้สหกรณ์ทราบ ทั้งในด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารงานของคณะกรรมการ
ดำเนินการการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการในด้านต่าง ๆ รวมทั้งข้อสังเกตที่ตรวจพบ และข้อเสนอแนะที่
สหกรณ์ควรแก้ไขปรับปรุง ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบที่สหกรณ์กำหนด
         ๕.) การติดตามแก้ไข ในการปฏิบัติงานตรวจสอบกิจการในคราวต่อไป ผู้ตรวจสอบกิจการต้อง
ติดตาม ผลการแก้ไขและเขียนไว้ในรายงานผลการตรวจสอบกิจการในคราวนั้นด้วย
 
        กรณีผู้ตรวจสอบกิจการตรวจพบว่า มีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับสหกรณ์หรือสหกรณ์
มีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ประกาศหรือคำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งข้อบังคับ
ระเบียบ มติที่ประชุมที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกและสหกรณ์ ให้ผู้ตรวจสอบกิจการแจ้งผล
การตรวจสอบกิจการ ต่อคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ทันที และแจ้งให้สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ใน
พื้นที่และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดหรือสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครทราบโดยเร็ว
         ผู้ตรวจสอบกิจการในฐานะผู้แทนของของสมาชิกต้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการดำเนินการและ
ประชุมใหญ่ เพื่อชี้แจงผลการตรวจสอบกิจการ ข้อสังเกตที่ตรวจพบและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อ
สหกรณ์ ให้ที่ประชุมได้รับทราบและคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป
 
         "ผู้ตรวจสอบกิจการต้องมีจริยธรรมโดยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ขยันหมั่นเพียรและมีสำนึก
รับผิดชอบ มีความเที่ยงธรรมโดยไม่เรียกร้องไม่รับสิ่งตอบแทนใด ๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนและค่า
ช้จ่ายอื่น ๆ ที่พึงได้ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับสหกรณ์ มีการรักษาความลับของสหกรณ์ที่รับตรวจสอบ
กิจการและต้องพัฒนาความรู้ทักษะความชำนาญอย่างต่อเนื่อง โดยการตรวจสอบกิจการสหกรณ์อย่างมี
ระบบนอกจากช่วยให้สหกรณ์รับทราบข้อเท็จจริงในการปฏิบัติงาน นำไปสู่การปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ
ที่ดีขึ้นแล้ว สมาชิกยังมั่นใจได้ว่า มีผู้แทนทำหน้าที่สอดส่องดูแล รักษาผลประโยชน์ที่พึงได้ การตรวจ
สอบกิจการสหกรณ์ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล
และสร้างความเชื่อถือศรัทธาต่อมวลสมาชิกสหกรณ์ในระบบสหกรณ์”