|
|
"สำรวย บางสร้อย คว้ารางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม
ระดับประเทศ ปี 64 ชูบัญชีเป็น"วัคซีน แก้ความจน
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ชู "สำรวย บางสร้อย เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติสาขาบัญชีฟาร์มระดับประเทศ ประจำปี 2564 ยกย่องเป็นแบบอย่างความสำเร็จในการนำ"บัญชีเป็นวัคซีนแก้ความจนลดต้นทุนลดรายจ่าย ลดหนี้สิน เพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพและสามารถนำความรู้ด้านบัญชีมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่ คนในชุมชนให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น |
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการคัดเลือก"เกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์มระดับประเทศ เป็นประจำทุกปี เพื่อค้นหาเกษตรกรที่มีผลงานทางการเกษตรดีเด่นและได้นำ"บัญชี มาปรับเปลี่ยนชีวิตตนเองและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ บำเพ็ญประโยชน์ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนในการนำองค์ความรู้จากการบันทึกบัญชีมาใช้ลดรายจ่าย ลดหนี้สิน เพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพ ตลอดจนน้อมนำแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวปฏิบัติในครอบครัว |
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจยกย่องเชิดชูประกาศเกียรติคุณของเกษตรกรดีเด่นให้ปรากฏและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานของบุคคลอื่น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พิจารณาคัดเลือกเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์มระดับประเทศ ประจำปี 2564 ได้แก่ นางสำรวย บางสร้อย เกษตรกรจากจังหวัดร้อยเอ็ด อายุ 53 ปี ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 12 บ้านสวนปอ ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด อาชีพทำไร่นาสวนผสม โดยประสบความสำเร็จจากการจดบันทึกบัญชีอย่างต่อเนื่องและนำข้อมูลทางบัญชี มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบ จนสามารถสร้างรายได้และลดต้นทุน รวมถึงสามารถชดใช้หนี้สินให้น้อยลงและมีฐานะที่มั่นคงมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายคนทำบัญชีและการเกษตรในชุมชน เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ด้านการจดบันทึกบัญชีและด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในชุมชนนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์และเห็นผลจริง |
สำหรับความเป็นมาของนางสำรวย บางสร้อย ก่อนจะหันมาทำบัญชีในการประกอบอาชีพจนประสบความสำเร็จในชีวิตในวันนี้ได้นั้น เป็นคนที่ประสบปัญหาหนี้สินเป็นหลักล้านบาท จากการนำมารักษาอาการเจ็บป่วยของตนเอง ซึ่งเคยมีปัญหาปลายประสาทตาอักเสบจนตาบอดเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้ต้องทยอยขายสมบัติที่มี ทั้งที่นา วัว และรถไถนา เพื่อนำเงินมารักษาตนเองจนหมดตัว จากวิกฤติชีวิตดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นในการจุดประกายความคิดในการหันมาจดบันทึกทำบัญชี เนื่องจากเห็นว่าการทำบัญชีทำให้รู้รับ-รู้จ่ายและรู้ว่ามีหนี้สินเท่าไรและ จะปรับลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและต้นทุนในการทำนาให้ได้กำไรและมีเงินเหลือเก็บไว้ใช้หนี้ได้อย่างไร ภายหลังจากการรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว ในปี 2560 จึงได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างจริงจัง พร้อมน้อมนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบกับได้รับการสอนแนะการจัดทำบัญชีจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ร้อยเอ็ด กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จนสามารถจดบันทึกบัญชีและนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการผลิตทางการเกษตรได้และมาเป็นครูบัญชีในปี 2561 ต่อมาในปี 2562 ได้นำความรู้จากการถอดบทเรียนของตนเองมาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนและเกษตรกรที่เข้ารับการอบรม พร้อมสอนแนะการใช้นวัตกรรมการจดบันทึกบัญชีผ่าน Application SmartMe ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยได้เรียนรู้และนำไปทดลองใช้ด้วยตนเองจนเห็นผลเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรและประชาชนสนใจเรียนรู้และมองเห็นความสำคัญของการจดบันทึกบัญชี |
จากการจดบันทึกบัญชีอย่างต่อเนื่องและนำข้อมูลทางบัญชีมาวางแผนการผลิตทางการเกษตรอย่างเป็นระบบในแต่ละปี จึงสามารถวางแผนปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร จากเดิมที่ทำนาหว่าน จำนวน 20 ไร่หลังจากทำบัญชีทำให้ทราบต้นทุนการผลิตว่า มีต้นทุนสูงจากค่าปุ๋ยเคมีและได้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน จึงปรับเปลี่ยนจากการทำนาหว่านมาทำนาหยอดซึ่งได้ผลกำไรมากขึ้น จนกระทั่งปรับเปลี่ยนอาชีพจากทำนาอย่างเดียวมาทำอาชีพเกษตรในลักษณะของการทำไร่นาสวนผสม โดยแบ่งพื้นที่จากการทำนาจำนวน 20 ไร่ เป็นการทำนาข้าว จำนวน 10 ไร่ ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และพืชผัก จำนวน 6 ไร่ ทำประมง จำนวน 2 ไร่ เลี้ยงสัตว์ จำนวน 1 ไร่ และสร้างที่อยู่อาศัย จำนวน 1 ไร่เช่น การปลูกแตงกวาน้ำหยด การปลูกขึ้นฉ่ายการเลี้ยงปลาดุกและปลาตะเพียน ฯลฯ โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนและรักษาสิ่งแวดล้อม และขยายการปลูกพืชหลากหลายชนิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีรายได้หลายทาง ปัจจุบันนางสำรวยสามารถชดใช้หนี้สิน จนเหลือน้อยลง และสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินได้ดียิ่งขึ้น |
ภายหลังจากที่ประสบผลสำเร็จในการนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการลดต้นทุนการทำนาและต้นทุนการทำไร่นาสวนผสมแล้ว ได้ขยายเครือข่ายด้านบัญชีให้ชุมชนด้วยการสร้างเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ได้สอนแนะนำการจัดทำบัญชีครัวเรือนและต้นทุนประกอบอาชีพแก่เกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ จำนวน 470 คน พร้อมทั้งได้ติดตามการจัดทำบัญชีของเกษตรกร โดยพบว่าเกษตรกรสามารถจดบันทึกบัญชีได้ จำนวน 385 คน ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่จดบันทึกบัญชีอย่างต่อเนื่อง จำนวน 40 คน |
ปัจจุบันนางสำรวยเป็นผู้นำในการส่งเสริมผลักดันให้มีการทำบัญชีและการใช้ข้อมูลบัญชีเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การวางแผนงานต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน โดยเป็นเจ้าของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เครือข่าย ประจำอำเภอปทุมรัตต์ จัดสรรพื้นที่ของตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มีหน่วยงานที่ให้ความสนใจมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องและสร้างเครือข่ายคนทำบัญชีและการเกษตรในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ด้านการจดบันทึกบัญชีและด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในชุมชนนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์เห็นผลจริง |
"ในการดำเนินชีวิตไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม บัญชีเป็นตัวชี้วัดที่ได้มาตรฐานที่สุด ในเรื่องความสำเร็จในการประกอบอาชีพและเป็นวัคซีนที่แก้ความจนได้ดีที่สุด สะท้อนให้เห็นต้นทุนรู้รับ รู้จ่าย เช่น หากทำนาในแปลงนาของเราทุกกิจกรรมจะต้องมีต้นทุน ถ้าเราไม่รู้ต้นทุนเราก็ไม่สามารถรู้ว่าตัวเองมีกำไรหรือประสบความสำเร็จได้อย่างไร อยากให้เกษตรกรทุกคนหันมาทำบัญชี เพราะบัญชีจะเป็นกระจกให้แก่เราในการยกระดับรายได้ ลดหนี้สิน และสามารถเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้ ทำให้ลูกหลานได้เรียนรู้ว่า พ่อแม่ผ่านความยากลำบากมาอย่างไรและทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ นางสำรวย กล่าว
นับเป็นแบบอย่างของผู้ที่นำบัญชีพลิกวิกฤติในชีวิตสู่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพและผู้นำในการส่งเสริมผลักดันคนในชุมชนและประชาชนทั่วไปทำบัญชีและการใช้ข้อมูลบัญชีเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์การวางแผนงานต่างๆให้เกิดประโยชน์ในชุมชนแบบยั่งยืนและมั่นคงนางสำรวยเชื่อมั่นว่าบัญชีเป็นตัวชี้วัดที่ได้มาตรฐานที่สุดในเรื่องความสำเร็จในการประกอบอาชีพและเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในการแก้ความจนให้คนไทย. |
|
|
|
|