กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เน้นตรวจสอบและควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีอย่างโปร่งใสตามมาตรฐาน พร้อมเผยสถานะการเงินของสหกรณ์และ
กลุ่มเกษตรกร ปี 2563 เติบโตเพิ่มขึ้น สร้างผลกำไรกว่า 99,000 ล้านบาท
       
         นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ เป็นสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย โดยมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายเทียบเท่าภาคเอกชนและมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ซึ่งหากนับรวมทุนดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศขณะนี้ มีทุนดำเนินงานประมาณ 3.56 ล้านล้านบาท ถือว่ามากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์และสถาบันเกษตรกร รวมถึงเกษตรกร และประชาชน ได้นำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จ มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่โปร่งใสและเป็นธรรม โดยมีภารกิจหนึ่งที่สำคัญคือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและตามที่ระเบียบกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กำหนดอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 12.80 ล้านคนทั่วประเทศ โดยมีผู้สอบบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินการบัญชีและแนะนำให้สหกรณ์มีระบบการควบคุมภายที่ดี เพื่อเตือนภัยทางการเงินให้กับสหกรณ์ และป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกทุกคนว่าได้รับการดูแลจากสหกรณ์เป็นอย่างดี และได้รับผลประโยชน์ที่พึงได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
          ปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มีผู้สอบบัญชีสหกรณ์ภาครัฐ 510 คน สอบบัญชีสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร 10,173 แห่ง สำหรับสหกรณ์นอกภาคการเกษตรที่มีทุนของสหกรณ์ 35 ล้านบาทขึ้นไป และมีผลการจัดชั้นคุณภาพสหกรณ์ในระดับดีขึ้นไป กรมฯ ได้แต่งตั้งให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือบุคคลอื่นเป็นผู้สอบบัญชีสหกรณ์ จำนวน 152 คน สอบบัญชีสหกรณ์นอกภาคการเกษตร (สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์ ร้านค้า บริการและเครดิตยูเนี่ยน) จำนวน 1,123 แห่ง โดยกรมฯ เป็นผู้ควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชี เพื่อให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้รับการตรวจสอบบัญชีอย่างโปร่งใสเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด สามารถนำผลการตรวจสอบบัญชีและข้อสังเกตจากผู้สอบบัญชีไปแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้ การบริหารจัดการของสหกรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
        อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า สถานะทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2563) ตรวจสอบบัญชีได้ 9,804 แห่ง มีสมาชิกทั้งสิ้น 12.80 ล้านคน และมีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 3.56 ล้านล้านบาท เป็นทุนของสหกรณ์ 1.58 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 44.๓๘ และหนี้สิน 1.98 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 55.62 ในจำนวนนี้เป็นเงินรับฝาก 1.44 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 40.45 ของทุนดำเนินงานทั้งสิ้น แยกเป็น เงินรับฝากของสมาชิก 1.35 ล้านล้านบาท และเงินฝากสหกรณ์อื่นและอื่น ๆ 0.09 ล้านล้านบาท ในปี 2563 มีมูลค่าการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น 2.23 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อ จำนวน 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.26 ธุรกิจรับฝากเงินมูลค่าเป็นอันดับสอง คิดเป็นร้อยละ 36.08 ที่เหลือเป็นธุรกิจรวบรวมผลิตผล ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ธุรกิจแปรรูปผลิตผล และธุรกิจให้บริการ คิดเป็นร้อยละ 3.05, 2.67, 0.85 และ 0.09 ตามลำดับผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 99,469.07ล้านบาท โดยกำไรสุทธิปีที่ผ่านมา 96,510.25 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมา 2,958.82 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.07      
        ทั้งนี้ ในปี 2563 ผู้สอบบัญชีเข้าตรวจสอบบัญชีและตรวจแนะนำด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกร 12,240 แห่ง พบข้อสังเกต ดังนี้
         1. ข้อสังเกตต่อรายการในงบการเงิน เป็นข้อสังเกตตามรายการบัญชีในงบแสดงฐานะการเงิน (สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน) ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร 2,798 แห่ง เป็นเงิน 4,526.37 ล้านบาท สาเหตุที่พบมากที่สุด คือ เงินสดขาดบัญชี 191 แห่ง 882.53 ล้านบาท รองลงมาเป็นการรับฝากเงินจากบุคคลภายนอก 123 แห่ง 700.19 ล้านบาท การจ่ายค่าใช้จ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบสหกรณ์ 6 แห่ง 381.86 ล้านบาท สมาชิกปฏิเสธหนี้/หุ้น/เงินรับฝาก 9 แห่ง 246.64 ล้านบาท การจัดซื้อสินทรัพย์ไม่เป็นไปตามระเบียบสหกรณ์ 171.60 ล้านบาท สินค้าขาดบัญชี 141 แห่ง 61.07 ล้านบาท รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าและไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ 82.30 ล้านบาท ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่ำไป 70.80 ล้านบาท และปลอมแปลงเอกสารการขายสินค้า 38.34 ล้านบาท ฯลฯ
         2. ข้อสังเกตอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏในงบการเงิน เป็นข้อสังเกตที่เกิดจากการที่สหกรณ์ไม่มีระบบการควบคุมภายใน หรือมีระบบการควบคุมภายในที่ไม่เหมาะสม หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายสหกรณ์หรือกฎหมายอื่นที่สำคัญ/ข้อบังคับ/ระเบียบของสหกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ เช่น การจัดทำเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และบันทึกบัญชีไม่เป็นปัจจุบัน การจ่ายเงินกู้ให้แก่สมาชิกไม่เป็นไปตามระเบียบที่สหกรณ์กำหนด การควบคุมภายในและการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลโปรแกรมระบบบัญชียังไม่เหมาะสมรัดกุม การรับเงินฝากเงินจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกและปฏิบัติไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต ฯลฯ
        3. การร้องเรียนและเป็นข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งสิ้น 35 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากการทุจริตเงินให้กู้ยืม ลูกหนี้การค้า ทุนเรือนหุ้น และเงินรับฝาก จำนวน 9 แห่ง โดยผู้สอบบัญชีเข้าตรวจสอบบัญชีและได้ขอคำยืนยันจากสมาชิกโดยตรง เพื่อพิสูจน์ความมีอยู่จริงของลูกหนี้ เงินรับฝากและทุนเรือนหุ้น ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 505 การขอคำยืนยันจากบุคคลภายนอก ปรากฏว่า มีสมาชิกปฏิเสธยอดเงินให้กู้ยืม ลูกหนี้การค้า ทุนเรือนหุ้น และเงินรับฝาก มีมูลค่าความเสียหาย 246.64 ล้านบาท แยกเป็นลูกหนี้เงินกู้ปฏิเสธหนี้ จำนวน 173.22 ล้านบาท ลูกหนี้การค้าปฏิเสธหนี้ จำนวน 37.60 ล้านบาท สมาชิกปฏิเสธยอดทุนเรือนหุ้น จำนวน 28.02 ล้านบาท และ สมาชิกปฏิเสธยอดเงินรับฝาก จำนวน 7.80 ล้านบาท
          "หลังจากที่ผู้สอบบัญชีตรวจพบข้อสังเกตด้านการเงินการบัญชีจะจัดทำหนังสือถึงประธานสหกรณ์แจ้งข้อสังเกตที่ตรวจพบและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและระเบียบที่สหกรณ์กำหนด พร้อมทั้งรายงานให้รองนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความเสียหาย ทั้งนี้การพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งแกสมาชิกได้โดยการดูแลผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์ผ่านการตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานและการดําเนินการที่ถูกต้อง สร้างระบบบัญชีของสหกรณ์ให้มีคุณภาพและเชื่อถือได้ พร้อมทั้งกํากับแนะนําด้านการเงินการบัญชีสหกรณ์ เป็นภารกิจสำคัญของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัวชี้วัดและหลักฐานเชิงประจักษ์สําคัญที่แสดงให้เห็นว่า การดําเนินการของสหกรณ์นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิกอย่างแท้จริง” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.