ครูบัญชีอาสาจากระยอง พลิกแนวทางทำเกษตรจากข้อมูลทางบัญชี
ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวสู่เกษตรผสมผสาน ลดความเสี่ยง
 
เกษตรกรจากอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตร โดยนำข้อมูลการ จดบันทึกทางบัญชีมาคิดวิเคราะห์ จากเคยทำสวนยางเพียงอย่างเดียว และต้องเผชิญกับราคายางพาราตกต่ำ มาสู่แนวทางเกษตรผสมผสานเพื่อลดความความเสี่ยง จนประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม พร้อมทำหน้าที่ครูบัญชีอาสา ถ่ายทอดความรู้สู่สังคม และได้รับคัดเลือกให้เป็นครูบัญชีดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2561
         นายชัยกฤต บุรุษวยากรณ์ ครูบัญชีดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2561 จากอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า เดิมทำสวนยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยไม่เคยจดบันทึกบัญชีมาก่อน จึงไม่รู้ว่าในแต่ละปี ซื้อปัจจัยการผลิตไปเท่าไหร่ มีต้นทุนค่าอะไรบ้าง และขายผลผลิตได้มาเท่าไหร่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมต้นทุนการ ผลิตได้ บางปีมีเงินเหลือ บางปีไม่มีเหลือ ไม่รู้ที่มาที่ไปของเงิน จนกระทั่งในปี 2559 มีเพื่อนแนะนำให้เข้าร่วมอบรมการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ และเมื่อผ่านการอบรมแล้วทำให้รู้ว่า หากจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม จำเป็นต้องจดบันทึกทางบัญชีในทุกกิจกรรมที่ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาชีพเกษตรกรรมที่มีรายละเอียดของกิจกรรมและค่าใช้จ่ายที่หลากหลาย หากไม่มีการจดบันทึกก็จะไม่รู้ว่าสิ่งใดควรลด ละ เลิก หรือสิ่งใดควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
         หลังจากจดบันทึกบัญชีและนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้ว ทำให้รู้ว่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากราคาผลผลิตในแต่ละปีมีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ตลอดเวลา ในขณะที่ปัจจัยการผลิตบางอย่างก็ปรับขึ้นราคาตลอดเวลาเช่นกัน และไม่สอดคล้องกับราคาผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำ จึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรในพื้นที่สวนยางพารา โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางการทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงจากราคายางพาราตกต่ำ ด้วยการลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงไป 50% และปรับเปลี่ยนพื้นที่อีก 50% ที่เหลือมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งมีทั้งไม้ผลสำหรับสร้างรายได้ระยะยาว ไม้ล้มลุก เช่น กล้วย รวมถึงผักสวนครัว เพาะเห็ด สำหรับบริโภคในครัวเรือนและเหลือจำหน่ายสร้างรายได้ พร้อมกันนี้ ยังได้ขุดร่องน้ำในรูปแบบ โคก หนอง นา ในพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อกักเก็บน้ำให้มีเพียงสำหรับใช้ในการ ทำเกษตร ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องทั้งรายวัน รายเดือน รายปี จากกิจกรรมทางการเกษตรต่าง ๆ ที่ทำ โดยไม่ต้องรอรายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีราคาตกต่ำ โดยปัจจุบันได้สร้างแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการให้ความรู้ ถึงวิธีการเพาะเห็ดนางฟ้าและการแปรรูปผลผลิต ให้กับเกษตรกร ประชาชน นักศึกษาที่สนใจในพื้นที่และ จากพื้นที่อื่นอีกด้วย เมื่อตนเองทำแล้วประสบความสำเร็จ ในฐานะที่เป็นครูบัญชีอาสา จึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ของการจดบันทึกทางบัญชีสอดแทรกไปทุกครั้งที่มีผู้เข้ามาศึกษาดูงาน และแจกสมุดบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ผู้ที่เข้ามาดูงานนำไปจดบันทึกด้วย ซึ่งหากเป็นคนในชุมชนก็จะมีการติดตามความก้าวหน้าว่ามีการจดบันทึกทางบัญชีตามที่แนะนำไปหรือไม่ หรือหากใครที่ได้รับสมุดไปแล้ว แต่ยังจดบันทึกไม่เป็น จดบันทึกไม่ถูกต้องก็จะไปให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทำบัญชีเป็น ซึ่งจากการติดตามพบว่า ผู้ที่มีการจดบันทึกทางบัญชีอย่างสม่ำเสมอ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนไป รู้จักการใช้จ่ายที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
          นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ไปแนะนำเรื่องการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดระยองอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
         "เมื่อมีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ทำให้รู้ว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วขาดทุนหรือมีกำไร เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการผลิตในปีต่อ ๆ ไป หากพบว่าจุดไหนไม่คุ้มทุนก็ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งการทำบัญชีไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่เรารู้ว่ามีรายรับจากไหนบ้าง รับมาเท่าไหร่ และใช้จ่ายอะไรไปบ้าง แล้วจดบันทึกไว้ทุกครั้ง เราก็จะรู้ว่าสิ่งไหนจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิ่งไหนจำเป็นต่อกิจกรรมในการประกอบอาชีพ จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรทุกคนหันมาจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพอย่างสม่ำเสมอ จะบันทึกในสมุดอะไรก็ได้ แต่ทำให้เคยชิน แล้วเราจะรู้ตัวเองมากขึ้น” นายชัยกฤต ฝากทิ้งท้าย.