|
|
"ทองใส สมศรี ต้นแบบครูบัญชีอาสา นักพัฒนาตามหลักปรัชญา
ของเศรษฐกิจพอเพียง"
|
"ทองใส สมศรี เกษตรกรผู้มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนตนเองจากการทำเกษตรกรรมที่พึ่งพาการใช้สารเคมี มาสู่การทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดย ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ไปพร้อมกับบทบาทหน้าที่ครูบัญชีอาสา ที่ปัจจุบันสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรม ภายใต้หลักคิดต้องจดบันทึกบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ จึงจะประสบความสำเร็จ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง |
นางสาวทองใส สมศรี ครูบัญชีอาสา อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวว่า เมื่อปี 2548 ตนได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี พร้อมกับเช่าที่ดินทำอาชีพเกษตรกรรม 10 ไร่ โดยเริ่มแรกปลูกพืชแบบผสมผสาน ประกอบด้วย เงาะโรงเรียน มังคุด ทุเรียนหมอนทอง ลองกอง และพืชหมุนเวียน 2 ไร่ ได้แก่ ผักสวนครัวต่าง ๆ รวมไปถึงการเลี้ยงสัตว์ อาทิ เลี้ยงกบ ไก่ หมู และทำนาข้าว โดยการทำเกษตรกรรมของตนนั้นเน้นการใช้สารเคมีเป็นหลัก ซึ่งทำให้มีต้นทุนการผลิตที่สูง และได้ผลผลิตไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งดินยังเสื่อมโทรม ทำให้ต้องเป็นหนี้สิน ซึ่งจุดนี้เองทำให้ตนเองกลับมานั่งทบทวนและหาวิธีที่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้สามารถเลี้ยงตนเองได้โดยไม่เป็นหนี้สิน จึงได้เริ่มศึกษาหาความรู้และลองผิดลองถูกด้วยตนเอง |
จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าอบรมตามโครงการพระราชดำริฯ ได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้กลับมาปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมของตนเองมาสู่รูปแบบการเกษตรแบบอินทรีย์ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ซึ่งผลผลิตที่ได้ก็นำมาบริโภคในครัวเรือน และแบ่งขายสร้างรายได้ และนอกจากได้ปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเรื่องการจดบันทึกทางบัญชีกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งจากการฝึกอบรมในครั้งนั้น ทำให้ตนได้นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้จนประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ทำให้รู้ต้นทุนการผลิต รายรับ รายจ่าย สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ และการดำรงชีพในชีวิตประจำวันได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้จากการทำอาชีพเกษตรกรรมที่ยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ พร้อมกับอุทิศตนเพื่อส่วนรวมด้วยการทำหน้าที่เป็นครูบัญชีอาสา ช่วยฝึกสอนอบรมเกษตรกรในพื้นที่ให้หันมาให้ความสำคัญกับการทำบัญชีอย่างจริงจัง เพราะมองว่าการทำบัญชีได้ ใช้บัญชีเป็น นอกจากช่วยให้เกษตรกรรู้รายได้ รู้รายจ่าย รู้ต้นทุนของตนเองแล้ว ยังช่วยให้เกิดการวางแผนด้านการผลิต การตลาด และการเงินของตนเองไปพร้อม ๆ กัน |
ครูทองใส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการของภาครัฐหลายหน่วยงาน เพื่อเป็นวิทยากรในด้านการทำเกษตรกรรม ขยายผลองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะการสอนทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน สอนให้รู้จักการทำตลาด การทำตลาดเชื่อมโยง และการทำตลาดออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ที่บ้านของตนจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีบุคคลทั่วไป เกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานและฝึกอบรมเรื่องการทำเกษตร และการทำบัญชีอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรในพื้นที่ใกล้เคียงและต่างจังหวัดให้กับ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มแม่บ้าน และสถานศึกษา เป็นต้น |
"จากการที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ความสำคัญในการทำบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในวันนั้น ทำให้วันนี้ตนเองไม่มีหนี้สิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ถือเป็นความภูมิใจกับอาชีพเกษตรกรรมของตนเองเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การที่ตนเองได้มีโอกาสมอบความรู้ช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกรคนอื่น ให้เห็นถึงความสำคัญในการทำบัญชี ผ่านบทบาทของครูบัญชีอาสา ให้บุคคลอื่นประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเราได้เป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจกับอาชีพเกษตรกรเป็นอย่างมาก นางสาวทองใส สมศรี ครูบัญชีอาสา กล่าว |
แม้ว่าวันนี้ครูทองใส สมศรี จะประสบความสำเร็จในอาชีพของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว แต่ครูผู้มีหัวใจนักพัฒนาที่มากด้วยความเสียสละก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ยังคงเดินหน้าทำหน้าที่ครูถ่ายทอดความรู้ในด้านการทำเกษตรกรรม และการทำบัญชีอย่างต่อเนื่องเสมอมา เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน. |
|
|
|
|