นางสุดใจ ชมภูมี เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2560 ผู้นำบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร และการสร้างเครือข่ายในชุมชนให้รู้จักการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ จนทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างเป็นระบบ
นางสุดใจ ชมภูมี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ปี 2560 จากชุมชนบ้านผารังหมี ตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีอาชีพทำนาและทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กันไป เช่น การทำนาข้าวปลอดภัย การผลิตปุ๋ย การผลิตฮอร์โมนพืช การทำน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน โดยมีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพในทุกกิจกรรมที่ทำ ซึ่งปกติมีความสนใจทำบัญชีเพื่อจดบันทึกรายรับรายจ่ายในการทำนาเป็นประจำอยู่แล้ว แต่มาจริงจังเมื่อปี 2543 เนื่องจากหมู่บ้านได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านมั่งมีศรีสุขจากกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งให้มีการทำบัญชีเพื่อเป็นตัวชี้วัด จำนวน 33 ครัวเรือน ซึ่งตนก็ได้สมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนั้นด้วย ทำให้เริ่มเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา พร้อม ๆ ไปกับทำหน้าที่ช่วยสอนแนะให้คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านรู้จักการทำบัญชีด้วย
จนกระทั่งในปี 2550 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้เข้ามาให้คำแนะนำในการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพ ซึ่งมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อจดบันทึกแล้วทำให้รู้มากกว่ากำไรขาดทุน แต่สามารถแยกกิจกรรมที่เราทำได้อย่างละเอียด ทำให้เรารู้ถึงกิจกรรมที่เราทำมากขึ้น ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ วางแผนการผลิตได้เป็นอย่างดี จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการศูนย์เรียนรู้โครงการพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำหลักการทรงงานมาปรับใช้กับหลักสูตรกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีการทำบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ และส่งเสริมกลุ่มอาชีพเพิ่มรายได้ เช่น กลุ่มทำปุ๋ยหมัก กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า กลุ่มนาข้าวปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับเลือกจาก ธกส. ให้เป็นวิทยากรหมอหนี้สอนการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพให้กับเกษตรกรผู้พักชำระหนี้ และติดตามการจัดทำบัญชี พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาด้านอาชีพและการทำบัญชีให้กับชาวบ้านในชุมชน รวมถึงทำหน้าที่ช่วยตรวจบัญชีให้กับชาวบ้านและเกษตรกรที่เข้าประชุมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในแต่ละเดือนอีกด้วย
"การชักชวนให้ชาวบ้านมาสนใจจดบันทึกบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพต้องสร้างแรงจูงใจ ซึ่งในเบื้องต้น มีแนวทางว่าหากใครทำบัญชีต่อเนื่องและนำมาให้คณะกรรมการกลุ่มตรวจบัญชีทุกเดือนก็จะมีรางวัลมอบให้ เช่น มอบเมล็ดพันธุ์ผักให้ไปปลูก ต่อมาได้พัฒนาเป็นธนาคารความดี เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวบ้านนำสมุดบัญชีมาให้คณะกรรมการกลุ่มตรวจสม่ำเสมอ หากคนไหนนำสมุดบัญชีมาตรวจ 1 ครั้ง จะมีคะแนนให้ 50 คะแนน และหากมีการร่วมกิจกรรมสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ ในชุนชน จะได้ 20 คะแนน เป็นต้น เมื่อครบ 1 ปีก็จะนำคะแนนมารวมกัน และมีรางวัลมอบให้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับผู้ที่มีคะแนนสะสมสูงสุดและคะแนนในลำดับรองลงมาตามลำดับ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านมาสนใจจดบันทึกบัญชีกันมากขึ้น อีกทั้งการที่เราได้ช่วยตรวจสมุดบัญชีให้กับชาวบ้าน ก็จะช่วยให้ทราบว่าในแต่ละครัวเรือนมีสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เพื่อที่คณะกรรมการกลุ่มจะได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ และช่วยให้คำแนะนำว่าสิ่งไหนควรลด สิ่งไหนควรเพิ่ม เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้คงเหลือที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สภาพเศรษฐกิจของชุมชนโดยภาพรวมดีขึ้นอีกด้วย นางสุดใจ กล่าว
นางสุดใจ กล่าวต่ออีกว่า จากการช่วยสอนแนะให้กับคนในชุมชนได้รู้จักการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถลดภาระหนี้สินจากสิ่งที่ไม่จำเป็น รู้จักการวิเคราะห์ในการลดต้นทุนในการทำนาและการประกอบอาชีพเสริมอื่น ๆ รู้จักการนำวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ มาทำสิ่งทดแทนปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน ซึ่งทำให้ได้คุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้น ส่งผลให้คนในชุมชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รู้จักประมาณตน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผลพวงจากการที่คนในชุมชนจดบันทึกบัญชีอย่างสม่ำเสมอ และเป็นชุมชนหนึ่งซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ของ ธ.ก.ส. จึงทำให้ทาง ธ.ก.ส. พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้กับชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้ จากเดิมอัตราร้อยละ 7% เหลือเพียงร้อยละ 4% เพียงลูกหนี้นำสมุดจดบันทึกทางบัญชีไปแสดงและสามารถอธิบายข้อมูลต่าง ๆ ที่จดบันทึกได้ รวมถึงโครงการเงินกู้ของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของชุมชนเอง ก็มีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้กับผู้ที่นำสมุดจดบัญชีมาแสดงต่อคณะกรรมการกลุ่มอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน
กระทั่งในปี 2560 นางสุดใจ ชมภูมี ได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ซึ่งถือว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต โดยนางสุดใจยังคงทำหน้าที่ในการสอนบัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีครัวเรือนให้แก่เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ และร่วมเป็นวิทยากรให้กับศูนย์ฯ อื่น ๆ โดยมีเทคนิคในการถ่ายทอดเพื่อให้ผู้เข้าอบรมสนใจด้านบัญชีคือ การยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริงของตัวเองไปถ่ายทอด พร้อมกับให้ทุกคนที่มาอบรมช่วยกันคิดวิเคราะห์จากการยกตัวอย่างการประกอบอาชีพบนแผ่นกระดาษ โดยให้บันทึกทุกกิจกรรมที่ทำ แล้วช่วยกันคิด วิเคราะห์ตั้งแต่เริ่มต้น ว่าจะต้องวางแผนการผลิตอย่างไร ต้องทำอย่างไรให้ต้นทุนลดลงและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้เข้าใจง่ายและมองเห็นภาพที่ชัดเจน และทำให้ผู้อบรมเห็นว่าการจดบันทึกบัญชีไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เข้าอบรมมีความสนใจแล้วนำไปปฏิบัติได้จริง
"จากการถ่ายทอดทางบัญชีด้วยจิตอาสามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปัจจุบัน คนในชุมชนมีความสนใจจดบันทึกบัญชีครัวเรือนเพื่ออุดรูรั่วที่ไม่จำเป็น และจดบัญชีต้นทุนอาชีพ เพื่อให้รู้ต้นทุน รู้กำไร ขาดทุน และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ลดอบายมุข และในฐานะที่เป็นครูบัญชีและเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ก็ยังจะพยายามกระตุ้นให้ชาวบ้านบันทึกบัญชีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นแผนพัฒนาตนเอง พัฒนาหมู่บ้าน พัฒนาอาชีพของเราได้เป็นระบบ ซึ่งเป็นความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ ช่วยให้ชาวบ้านรู้จักตัวเอง และสามารถกำหนดทิศทางของตัวเองได้ จึงอยากฝากให้ทุกคน ทุกอาชีพ ให้ความสำคัญกับการจดบันทึกบัญชี และทำให้เป็นนิสัย เพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของทุกกิจกรรมที่ทำ แล้วเราจะทราบว่าสิ่งไหนต้องปรับลดหรือต้องเพิ่ม เพื่อให้มีรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น นางสุดใจ ฝากทิ้งท้าย. |