|
|
|
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ผู้ตรวจสอบกิจการ เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสหกรณ์ |
|
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผู้ตรวจสอบกิจการ ถือเป็นบุคคลสำคัญที่ทำหน้าที่ในสหกรณ์ หากสหกรณ์ใดมีผู้ตรวจสอบกิจการที่เข้มแข็งและมีความรู้ ก็จะทำให้มั่นใจได้ว่า กิจการของสหกรณ์นั้น ๆ จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ กฎ ข้อบังคับ และมีความเสี่ยงในการประกอบกิจการน้อย ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการฝึกอบรมให้กับผู้ตรวจสอบกิจการ มีหลักสูตรเสริมศักยภาพให้กับผู้ตรวจสอบกิจการได้รับความรู้ในการที่จะเข้าไปตรวจสอบกิจการของสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดูบัญชีได้ ใช้บัญชีเป็น รู้จักประเมินกิจกรรมต่างๆ อันจะเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการของสหกรณ์ได้ รู้จักปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะนำมาใช้วิเคราะห์ว่า หากจะดำเนินธุรกิจใดแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะเหมาะสมกับสหกรณ์มากน้อยเพียงใด
"ผู้ตรวจสอบกิจการ จะต้องมีความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับคณะกรรมการบริหารของสหกรณ์ โดยผู้ตรวจสอบกิจการนั้น ที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์จะเป็นผู้เลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมาจากสมาชิกของสหกรณ์ หรือเลือกจากบุคคลภายนอกเข้ามาก็ได้ แต่บุคคลที่จะมาทำหน้าที่นั้น ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรผู้ตรวจสอบกิจการจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์มาแล้ว โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีความเห็นว่า หากจะให้การตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ดำเนินไปได้อย่างดีทุกปี ควรให้ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ได้รับการฟื้นฟูความรู้และรับการถ่ายทอดประสบการณ์ หรือสาระอันเป็นประโยชน์ในการที่จะไปปรับปรุงหรือดูแลกิจการสหกรณ์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ก้าวทันธุรกิจของสหกรณ์ที่เปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการแข่งขันกับธุรกิจของภาคเอกชนที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ นายโอภาส กล่าว
นายโอภาส กล่าวอีกว่า เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ส่วนใหญ่จะมาจากการฝาก ถอน กู้ ยืม ซึ่งไม่สามารถไปแข่งขันกับสถาบันการเงินภาคเอกชนได้ เพราะแนวทางบริหารจัดการและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของภาคเอกชนจะไม่ยุ่งยากเหมือนกับการบริหารจัดการของระบบสหกรณ์ เช่น การปล่อยกู้ของภาคเอกชนจะง่ายกว่าสหกรณ์ จึงช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้กู้ได้ อีกทั้งเอกชนมีระบบการตีมูลค่าหลักทรัพย์ตามความเป็นจริง มีรูปแบบการบริหารจัดการที่เน้นความรวดเร็ว และมีระบบการติดตามแบบทันทีทันใด เข้าถึงตัวบุคคล ซึ่งจะแตกต่างจากระบบการบริหารจัดการของสหกรณ์ ที่หากสมาชิกจะกู้ยืม ต้องค้ำประกันตัวเองโดยใช้เงินหุ้นของผู้กู้เป็นหลักประกัน ซึ่งในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหา ส่วนรูปแบบที่ 2 คือใช้ตัวบุคคลค้ำประกัน ในกรณีนี้มักจะพบว่าเจอปัญหาในหลายแห่ง โดยเฉพาะในสหกรณ์ที่สมาชิกผู้กู้สังกัดอยู่นั้นมีปัญหาเกิดขึ้น ก็จะทำให้มีผลกระทบต่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่แน่นอนในการชำระเงินกู้ที่มีอยู่กับสหกรณ์นั้น ๆ ได้ รูปแบบที่ 3 คือการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในกรณีนี้ พบว่า ในบางสหกรณ์มักจะมีการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ไม่เป็นตามราคาที่แท้จริง จึงทำให้มูลหนี้กับมูลค่าหลักทรัพย์ไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเกิดปัญหา ผู้กู้จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้ หลักทรัพย์ที่ยึดคืนได้จึงด้อยกว่ามูลหนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะนำมาสู่ความเสียหายแก่สหกรณ์ในที่สุด แต่ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ตรวจสอบกิจการสามารถช่วยวิเคราะห์วางแผนให้กับสหกรณ์เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในอนาคตได้ สามารถประเมินความเสี่ยงได้ว่า ในกิจกรรมของสหกรณ์นั้น เรื่องใดมีความเสี่ยงหรือต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เมื่อผู้ตรวจสอบกิจการ ได้ตรวจสอบพบก็ให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป โดยปัจจุบัน ปัญหาที่พบมากคือการทุจริตรายบุคคลที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น การปลอมลายมือชื่อ การรับฝากเงินแล้วไม่นำฝากจริง เป็นต้น กรณีแบบนี้ ผู้ตรวจสอบกิจการสามารถสอดส่องดูแลพฤติกรรมของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกทุกคนว่าได้รับการดูแลจากสหกรณ์เป็นอย่างดี
"กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีนโยบายที่จะพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ให้มีความรู้ความสามารถในด้านการตรวจสอบกิจการสหกรณ์ โดยเปิดอบรมเสริมศักยภาพให้กับผู้ตรวจสอบกิจการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อปรับปรุงข้อมูลทุก ๆ ปี เนื่องจากในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอยู่ตลอดเวลา หากมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้ นอกจากนี้ หากมีหน่วยงานใดในขบวนการสหกรณ์จัดอบรมเพิ่มเติม ทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ก็พร้อมส่งวิทยากรไปร่วมให้ความรู้ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย. |
|
|
|
|