สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจนครราชสีมา จำกัด
                  นำบัญชีบริหารจัดการผ่านวิกฤตทุจริตในสหกรณ์
 
           ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสหกรณ์ นับเป็นจุดด่างพร้อยของวงการสหกรณ์ไทย ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ยังลุกลามสร้างความเดือดร้อนให้แก่มวลสมาชิก สั่นคลอนความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่จะช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่กลับมีบางคนหรือบางกลุ่มใช้ช่องทางนี้เพื่อมาแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์หลายกรณีจึงมีที่มาจากการทุจริตของผู้จัดการ คณะกรรมการบริหาร หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่การเงินการบัญชีที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กับสมาชิกโดยตรง ซึ่งขาดจริยธรรมในการดำเนินการเพื่อส่วนรวม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบสหกรณ์
         สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจนครราชสีมา จำกัด เป็นหนึ่งในกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของฝ่ายจัดการสหกรณ์ ซึ่งสร้างความเสียหายให้สหกรณ์เป็นมูลค่าถึง 390 ล้านบาท แต่สหกรณ์แห่งนี้ กลับสามารถกู้วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และบริหารจัดการสหกรณ์จนเกิดความโปร่งใส เรียกความเชื่อมั่นศรัทธาคืนสู่มวลสมาชิกมาได้ถึงปัจจุบัน
          การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นส่วนสำคัญที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ ให้คำแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาให้สหกรณ์สามารถฟื้นคืนสู่สภาวะปกติได้ ตามหลักการสหกรณ์ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยใช้บัญชีบริหารจัดการ โดยนางสาวดวงพร ลิ้มพันธ์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการ จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครราชสีมา หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจนครราชสีมา จำกัด กล่าวถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ว่า สหกรณ์ดังกล่าวเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่มาก ซึ่งจะมีการปิดบัญชีในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี ดำเนินการสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชีภาคเอกชน จนกระทั่งในปีบัญชี 2553 สหกรณ์เกิดการทุจริตขึ้นจากผู้จัดการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่การเงินการบัญชีในขณะนั้น ได้ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารทางการเงินและปรับแต่งยอดบัญชี รวมไปถึงการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ทำให้สหกรณ์ประสบปัญหาขาดทุน ปิดบัญชีไม่ได้ งบการเงินคลาดเคลื่อน ส่งผลให้สมาชิกเดือดร้อน เกิดความไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อมั่นในสหกรณ์ ทางสหกรณ์จึงได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือมายังกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยกรมฯ ได้มีคำสั่งให้ข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้ามาช่วยเหลือแนะนำการจัดทำบัญชี การจัดทำงบการเงิน และรายละเอียดต่างๆ เพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูลและเก็บข้อมูลเบื้องต้นให้ทางสหกรณ์นำไปฟ้องร้องผู้กระทำความผิดได้ รวมทั้งให้สหกรณ์ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้มีความชัดเจนและโปร่งใสขึ้น
          ด้านสหกรณ์ได้มีการปรับแผนการบริหารงานตามคำแนะนำของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งผู้บริหารของสหกรณ์ในชุดปัจจุบัน พ.ต.อ.ชนัตถ์ กวีขาวฉลาด กรรมการ/เหรัญญิก สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจนครราชสีมา จำกัด กล่าวถึงปัญหาการทุจริตในขณะนั้นว่า นอกจากการทุจริตที่เกิดจากผู้จัดการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่การเงินการบัญชีในอดีตซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว อีกปัญหาหนึ่งเกิดจากการคัดสรรคณะกรรมการสหกรณ์แต่เดิมซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกที่ไม่มีความรู้เรื่องการเงินการบัญชี ทำให้รู้ไม่เท่าทัน ส่งผลให้การบริหารจัดการภายในไม่รัดกุม ไม่สามารถตรวจสอบระบบทางการเงินการบัญชีได้ กระทั่งเกิดความเสียหายกับสหกรณ์ หลังเกิดปัญหาสหกรณ์จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับผู้บังคับการที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารจัดการสหกรณ์ จนสามารถกอบกู้วิกฤตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์ได้ รวมใช้เวลา 7 ปี ในส่วนของฝ่ายจัดการสหกรณ์ ได้ปรับปรุงแก้ไขระบบการทำงานภายในให้ชัดเจนยิ่งขึ้น อุดช่องโหว่วป้องกันเหตุทุจริตซ้ำรอยเดิม โดย พ.ต.ท.หญิง อัจฉรา ประชากิจ ผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการตำรวจนครราชสีมา จำกัด กล่าวว่า ในการทำงานของฝ่ายจัดการสหกรณ์ ได้จัดหาผู้จัดการสหกรณ์ที่มีความรู้ความสามารถมาวางระบบการทำงานให้สมาชิกเกิดความเชื่อมั่น มีการแบ่งแยกหน้าที่ของฝ่ายการเงินและการบัญชีออกจากกันอย่างชัดเจน นำโปรแกรมบัญชีมาใช้แทนการเขียนด้วยมือ และตรวจสอบยอดเงินคงเหลือทุกวัน โดยจัดให้มีการประชุมทุกเดือนเพื่อนำเสนอข้อมูลทางการเงินการบัญชีให้กับที่ประชุมคณะกรรมการได้รับทราบ อีกทั้งเพิ่มความอำนวยสะดวกให้กับสมาชิกในการชำระหนี้ สามารถโอนเงินได้ผ่านระบบธนาคาร โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สหกรณ์ และสมาชิกสามารถตรวจสอบข้อมูลของสหกรณ์และของตนเองได้ผ่านได้ทางเว็บไซต์ของสหกรณ์
           จึงเป็นแบบอย่างของสหกรณ์ที่สามารถกอบกู้สถานการณ์ พลิกฟื้นสหกรณ์ให้สามารถดำเนินกิจการ ต่อไปได้ โดยปรับระบบการควบคุมภายใน ใช้บัญชีบริหารจัดการธุรกิจ สะท้อนให้เห็นตัวตนของสหกรณ์ได้อย่างชัดเจน ทั้งผลการดำเนินงาน ฐานะทางการเงิน ช่วยป้องกันการทุจริตและป้องกันการสูญหายของสินทรัพย์ และเป็นแหล่งข้อมูลทางการเงินในการตัดสินใจด้านต่างๆ ของผู้บริหาร สามารถนำมาวางแผนควบคุม วัดผลดำเนินงาน และตัดสินใจในการขยายธุรกิจและการงานด้านต่างๆ นำมาสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกและพัฒนาสหกรณ์ให้เติบโต ซึ่งแนวทางในการลดจุดอ่อนที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในสหกรณ์ที่สำคัญอีกทางหนึ่งคือ ความพยายามในการมุ่งสร้างความเข้าใจให้สมาขิกใส่ใจสิทธิประโยชน์ของตนเอง คอยตรวจสอบการดำเนินงานของฝ่ายจัดการของสหกรณ์ ทั้งด้านการเงินการบัญชีและการดำเนินการของสหกรณ์ รับรู้ข้อมูลทางบัญชีสหกรณ์ทั้งภาพรวมและของตนเอง เพื่อลดปัญหาการทุจริตและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้.