|
|
"สุริยะ ชูวงศ์ครูบัญชีอาสาดีเด่น พลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการจัดการ
ทางบัญชี
|
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรและประชาชน มีการทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง โดยสร้างครูบัญชีอาสาหรือ "อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการเป็นวิทยากร วิทยากรผู้ช่วย เพื่อสอนแนะ กระตุ้นการเรียนรู้ และติดตามผลการทำบัญชีของเกษตรกร รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนของตนและพื้นที่ต่างๆ ซึ่งจากการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และครูบัญชีอาสา ได้ช่วยเสริมสร้างให้เกษตรกรได้ใช้บัญชีไปใช้วิเคราะห์ต้นทุนการประกอบอาชีพ เพื่อวางแผนธุรกิจในครัวเรือนของตนเองได้ |
นายสุริยะ ชูวงศ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์มประจำปี ๒๕๕๙ และครูบัญชีอาสากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จากจังหวัดเพชรบุรี เป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่เคยประสบปัญหาในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจำหน่ายกล้วยหอมทองในช่วงสินค้าล้นตลาด ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และได้ราคาตกต่ำ แต่ในทางกลับกันเมื่อถึงช่วงเทศกาลที่กล้วยหอมทองเป็นที่ต้องการของตลาด กลับไม่มีสินค้าไปจำหน่าย สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ จนกระทั่งได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้ทางบัญชีจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้นำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาวิเคราะห์การใช้จ่าย ทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และนำไปวางแผนในการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับกลไกการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สามารถจำหน่ายกล้วยหอมทองได้ราคาดี พร้อมทั้งได้น้อมนำทฤษฎีไร่นาสวนผสมและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการปลูกพืชไร่พืชสวนแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิต บริหารจัดการระบบการเงินด้วยการทำบัญชีครัวเรือนและการทำการตลาด โดยศึกษาความต้องการของตลาดและตรวจสอบราคาของผักผลไม้ที่แตกต่างไปตามเทศกาลและฤดูกาล เพื่อนำมาวางแผนการปลูกพืชในแต่ละเดือนให้เหมาะกับความต้องการของตลาดในช่วงนั้นๆ |
จากการที่นายสุริยะ ได้นำข้อมูลทางบัญชีที่จดบันทึกไว้มาวิเคราะห์วางแผนการผลิต ทำให้สามารถมองเห็นถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข จนพัฒนาตนเองสู่ความสำเร็จ โดยนายสุริยะ บอกว่า องค์ความรู้ทางบัญชี ถือเป็นอาวุธทางปัญญาที่ส่งผลให้การผลิตภาคการเกษตร ผ่านพ้นความเสี่ยงจากกลไกทางการตลาดที่มีผลต่อการกำหนดราคาพืชผลทางการเกษตรและยังสามารถนำข้อมูลจากการจดบันทึกทางบัญชีมาใช้ในการบริหารจัดการปัจจัยการผลิตอย่างดิน น้ำ และปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม จนทำให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อีกด้วย นับเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่นำองค์ความรู้ทางบัญชีมาปรับเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิตและการทำการเกษตร และยังเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรอื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่าง สามารถปรับตัวฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน. |
|
|
|
|