กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เสนอพลังงานทดแทนเป็นทางเลือก 
เพื่อลดต้นทุนประกอบอาชีพสำหรับสมาชิกสหกรณ์ประมง

         นายสิงห์ทอง ชินวรรังสี อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
   เผยว่า สหกรณ์ประมงเป็นสหกรณ์ที่มีรูปแบบการดำเนินงาน
   คล้ายคลึงกับสหกรณ์การเกษตร ต่างกันที่สมาชิกของสหกรณ์
   ประกอบอาชีพการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อขาย
   เป็นหลัก ซึ่งในรอบปี 2553 นั้น สหกรณ์ประมงมีจำนวน 75 แห่ง
   มีสมาชิกทั้งสิ้น13,701 คน และมีปริมาณธุรกิจโดยรวม 663.49
   ล้านบาท แยกเป็น การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ร้อยละ 53.13
   การรวบรวมผลิตผล ร้อยละ 18.82 การให้สินเชื่อ ร้อยละ 12.61
   การให้บริการ ร้อยละ10.77 และการรับฝากเงิน ร้อยละ 4.67
         อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าผลการ
   ดำเนินงานในรอบปี 2553  สหกรณ์ประมงมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น
   56.35  ล้านบาท แต่สหกรณ์ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแหล่งเงินทุน
   จากภายนอก อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและ
โอกาสในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น สหกรณ์ควรพิจารณาเพิ่มทุนภายใน (ทุนเรือนหุ้น/เงินรับฝากจากสมาชิก) ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงในระยะยาวและปรับลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากภายนอกลง  รวมไปถึงการเฝ้าระวังทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
 
       “การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่มีชายฝั่ง
ทะเลยาวถึง 2,614 กิโลเมตร จึงเอื้ออำนวยให้มีการประกอบอาชีพประมงทั้งประมงน้ำจืดและประมงน้ำเค็มกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงส่งผล
ให้สหกรณ์ประมงมีโอกาสเจริญเติบโตต่อไปได้ในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยการผลิตที่
สำคัญและถือเป็นต้นทุนหลักของการประกอบอาชีพประมงนั้น คือ น้ำมันดีเซล และแรงงาน 
ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าราคาน้ำมันทุกชนิดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การแก้ปัญหาอย่าง
ยั่งยืนในระยะยาวเกี่ยวกับปัญหาราคาน้ำมันนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษาการใช้พลังงานทดแทน
ประเภทไบโอดีเซล ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบทางการเกษตรมากมายที่สามารถนำมาผลิตไบโอ
ดีเซลได้  ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด เป็นต้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เชื่อแน่ว่า หากต้นทุนการประกอบอาชีพลดลงแล้ว จะส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และประการสำคัญจะเป็นผลดีต่อสถานะทางการเงินของสหกรณ์ด้วย
เช่นกัน” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์  กล่าว