"สิรวิชญ์ มิไพทูล” เกษตรกรรุ่นใหม่ จ.เพชรบูรณ์ ใช้บัญชีวางแผนการผลิต ปรับเปลี่ยนแนวคิดใช้ตลาดนำ

       จากนโยบายการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิต และยกระดับมาตรฐานสินค้า โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายสำคัญ 15 เรื่อง อาทิ เกษตรแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า ปี 2560 ครัวเรือนภาคการเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ต้นทุนการผลิตสูง ประสบภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งสาเหตุมาจากเกษตรกรไทยยังขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ ขาดความรู้ ขาดเงินทุน และไม่มีตลาดรองรับ จึงกำหนดนโยบาย "ตลาดนำการผลิต ” ซึ่งจะเป็นแนวทางให้เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองกับความต้องการของตลาด

   "นายสิรวิชญ์ มิไพทูล”เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2560 อายุ 26 ปี เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำระบบตลาดนำการผลิตมาปรับใช้ในการทำสวนมะม่วง ทำให้สามารถผลิตมะม่วงนอกฤดูเพื่อส่งออกต่างประเทศได้ตลอดทั้งปี และผลผลิตได้ตามมาตรฐาน GAP นอกจากนี้ยังนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการวางแผนการผลิต และทำหน้าที่เป็นครูบัญชีประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ สอนแนะการบันทึกบัญชีให้แก่เกษตรกรและคนในชุมชน และเปิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออกให้เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ

       "แต่เดิมครอบครัวทำไร่ข้าวโพด แต่ด้วยต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ได้กำไรน้อย ไม่คุ้มกับการลงทุน จนกระทั่งปี 2531 จึงหันมาปลูกมะม่วงพันธุ์พื้นบ้าน ได้แก่ เขียวเสวย แรด และหนองแซง แต่รายได้ก็ยังน้อยอยู่ ต่อมาเห็นว่าการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นที่ต้องการของตลาดจึงทดลองปลูกและประสบความสำเร็จ และได้มีการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรภายในชุมชนเพื่อส่งออกขายตลาดในประเทศ ทำให้ได้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด และมีอำนาจ
ในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง”
         ต่อมาในปี 2553 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตมะม่วงคุณภาพเพื่อการส่งออก เพื่อรวบรวมผลผลิตในการส่งออกตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย และได้มีการพัฒนารูปแบบการเกษตรให้เป็นแบบ GAP หรือการทำการเกษตรแบบปลอดภัย ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เป็นต้นแบบของประเทศไทยในการทำการเกษตรแบบ GAP ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เพชรบูรณ์ ได้เข้าไปให้คำแนะนำการจดบันทึกบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ทำให้สิรวิชญ์เห็นว่าการปลูกมะม่วงในแต่ละช่วงมีความแตกต่างกัน การปลูกมะม่วงในฤดูเพื่อส่งออกภายในประเทศได้กำไรน้อย เนื่องจากมีคู่แข่งมาก จึงคิดต่อยอดมาเป็นการปลูกนอกฤดูและส่งออกต่างประเทศ เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น โดยนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์และคิดค้นหาวิธีลดต้นทุนการผลิตทั้งการทำปุ๋ยหมัก การทำไส้เดือนดิน และการผสมธาตุอาหารใช้เอง เพื่อนำมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรที่มีราคาสูง
        จากการเห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชี จึงอยากจะถ่ายทอดความรู้เรื่องบัญชีให้กับเกษตรกรได้รู้และเข้าใจและเห็นถึงประโยชน์ของการทำบัญชี จึงได้สมัครเข้าร่วมเป็นครูบัญชีอาสา ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และจัดตั้ง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอหนองไผ่ เพื่อถ่ายทอดความรู้การจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกรอีกด้วย
         "บัญชี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าจะวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราไปในรูปแบบไหน และควรจะวางแผนชีวิตไปในทิศทางใด เช่นเดียวกับการทำการเกษตร ข้อมูลทางบัญชีก็จะเป็นตัวพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าควรจะวางแผนการผลิตอย่างไรต่อไป รวมทั้งการนำหลัก 3 คิด 4 รู้ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ 1.คิดจำแนก ทำให้รู้รายได้ รู้รายจ่ายของตนเอง 2.คิดปะติดปะต่อ เปรียบเทียบรายได้ รายจ่าย ทำให้รู้หนี้สิน ฝึกนิสัยการใช้จ่ายเงิน และ 3.คิดหลักบัญชี ทำให้รู้ทิศทางอนาคตของตนเอง สร้างนิสัยการออม ถ้าเราทำได้ก็จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต”สิรวิชญ์ กล่าว.