|
|
"ทองใส สมศรี ครูบัญชี จ.จันทบุรี ใช้บัญชีปรับแผนการผลิต
มุ่งทำเกษตรอินทรีย์ สร้างวิถีพอเพียง
|
"
คำว่า พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันภายในที่ดี เกิดขึ้นในชีวิตของตนเองได้ ก็ด้วยการใช้ข้อมูลในบัญชีที่ช่วยให้เห็นว่า การใช้สารเคมีนั้นมีต้นทุนสูง ไม่ใช่ความพอประมาณ จึงได้หันมาลองทำการเกษตรแบบอินทรีย์ โดยเก็บข้อมูลบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนของสวนผลไม้อินทรีย์และนาข้าวอินทรีย์ สุดท้ายจึงค้นพบว่า บัญชี นำสู่วิถีความพอเพียงและบัญชีได้นำความสุขมาสู่ครอบครัวของเรา... นางสาวทองใส สมศรี ครูบัญชีอาสา ต.ตะปอน อ.ขลุง จ.จันทบุรี และปัจจุบันควบตำแหน่งประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ขลุง จ.จันทบุรี และประธานนาแปลงใหญ่ (มังคุด) อ.ขลุง จ.จันทบุรี กล่าวถึงความสำเร็จในการทำการเกษตรที่เริ่มต้นจากการทำบัญชี จนสามารถนำไปใช้ปรับเปลี่ยนแผนการผลิต และเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น |
จุดเริ่มต้นจากปี พ.ศ.๒๕๔๘ ครูทองใส ได้ย้ายถิ่นฐานจากจ.บุรีรัมย์ มาอยู่ที่จ.จันทบุรี เริ่มต้นทำอาชีพการเกษตรโดยใช้สารเคมีตามคำแนะนำที่คนบอกว่าดี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ผลผลิตที่ออกมาไม่ดีตามที่หวัง ท้ายสุดจึงมีปัญหาหนี้สินตามมา หลังจากลองผิดลองถูกด้วยตนเองจึงหันมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการผลิต โดยนำความรู้ที่ได้จากการเข้าอบรมตามโครงการพระราชดำริ และความรู้ในการทำบัญชีที่ได้รับคำแนะนำจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มาวิเคราะห์ วางแผน ปรับเปลี่ยนการผลิต และปรับใช้ในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช |
จากการปรับเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ มีการปลูกพืชหลายอย่าง ทั้งทำนา ทำสวน ปลูกผัก ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ประสบผลสำเร็จจนถึงปัจจุบัน ผลผลิตที่ได้ก็นำมาบริโภคในครัวเรือน และแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน ส่วนที่เหลือสามารถนำไปขาย สร้างรายได้ เมื่อมีการวางแผนการผลิตให้มีความหลากหลาย โดยแบ่งพื้นที่เกษตรเป็นสวนผลไม้อินทรีย์เนื้อที่ ๑๐ ไร่ มีการปลูกเงาะ ทุเรียน มังคุด การทำนาข้าวอินทรีย์ในเนื้อที่ ๘๐ ไร่ และปลูกพืชผักหมุนเวียนในเนื้อที่ ๒ ไร่ ในปีที่ประสบปัญหาภัยแล้งที่เกษตรกรที่ทำสวนผลไม้ส่วนมากจะประสบปัญหาเก็บผลผลิต ได้น้อย แต่ครูทองใส ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีผลผลิตจากนาข้าว แปลงผักมารองรับ ทำให้สามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้ |
ครูทองใส นับเป็นเกษตรกรและครูบัญชีที่มีระบบการทำบัญชีดีเด่น โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดทำบัญชีให้แก่เกษตรกรในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สามารถทำบัญชีได้ ใช้บัญชีเป็น รู้รายได้ รู้รายจ่าย รู้ต้นทุน รู้ตนเอง ช่วยให้เกิดการวางแผนด้านการตลาด การผลิต และการเงิน เกษตรกรเข้าใจและติดตามปัจจัยการเปลี่ยนแปลงในการเพาะปลูก โดยใช้ข้อมูลจากบัญชีมาเป็นปฏิทินเพาะปลูก ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของภูมิอากาศ ราคาตลาด ไปจนถึงผลผลิตที่ออกโดยรวมทั่วไป สามารถบอกได้ถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ควรผลิตออกสู่ตลาด และสามารถคาดการณ์ปริมาณผลผลิตที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดได้ ทำให้ช่วยการวางแผนทำการเกษตรได้ง่ายขึ้น ซึ่งครูทองใส ยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนำความรู้ที่ได้จากการอบรมจากโครงการพระราชดำริ มาปรับใช้ภายในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่จัดตั้งขึ้นในบริเวณบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยภายในศูนย์ฯ มีฐานเรียนรู้กิจกรรมเกษตรพอเพียงหลากหลายกิจกรรม อาทิ การอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมือง การรวมกลุ่มผลิตเงาะ มังคุดคุณภาพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการจำหน่ายสินค้า และกิจกรรมสำคัญคือ การบันทึกบัญชีที่ครูทองใสแนะนำให้สมาชิกจดบันทึกและมีการติดตามผล ในทุกๆ เดือน |
"เราได้ลองทำบัญชี จดว่าทำอาชีพอะไรบ้าง ๑. ทำนา ๒. ทำสวนผลไม้ ๓. ปลูกผัก จดทุกอย่าง ทุกวัน เดือนหนึ่งก็สรุปว่าลงทุนไปเท่าไหร่ แรงงานเท่าไหร่ทั้งของคนงานและของตัวเราเอง ทำให้รู้ว่าค่าของการทำบัญชี คือค่าของชีวิตเกษตรกร ทำให้รู้รายรับ-รายจ่าย รู้ต้นทุน ไม่ใช้ของฟุ่มเฟือย รู้จักการบริหารเงินของเราว่าในปัจจุบันมีเงิน กี่บาท จะลงทุนเท่าไหร่ การทำบัญชี จึงดีสำหรับเกษตรกรทุกๆคน เราจึงแนะนำให้เกษตรกรคนอื่นๆและสมาชิกในศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ลองจดบัญชี เพื่อให้รู้ต้นทุน เพราะถ้าเราไม่รู้จักต้นทุนที่แท้จริงก็เท่ากับเราโกหกตัวเอง และไม่ใช่ดีสำหรับเกษตรกรเพียงอย่างเดียว ทุกคนถ้ารู้จักทำบัญชี จะส่งผลดีทุกรากฐาน ทุกอาชีพ |
ปัจจุบันครูทองใส สมศรี ยังคงทำหน้าที่เป็นครูบัญชี ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่พี่น้องเกษตรกร ในชุมชนและคนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งปณิธานว่า จะเป็นครูบัญชีที่ดีตลอดไป เพื่อใช้บัญชีเป็นเครื่องมือชี้นำทางไปสู่ความสำเร็จ นำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขแบบพอเพียง. |
|
|
|
|