|
|
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ประชุมซักซ้อมกระบวนการตรวจสอบบัญชี
รูปแบบใหม่ ปี 2561 เพิ่มประสิทธิภาพการสอบบัญชีให้มีประสิทธิภาพ
รองรับการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ในอนาคต
|
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญด้านการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็งและเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงการกำกับดูแลผู้สอบบัญชี พัฒนาระบบการตรวจสอบกิจการและสมรรถนะของผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างมาตรฐานด้านบัญชีให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจสหกรณ์ โดยสนับสนุนการนำระบบบัญชีสหกรณ์ มาใช้บริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ความโปร่งใส สร้างธรรมาภิบาลที่ดีให้เกิดขึ้นในสหกรณ์ ส่งผลประโยชน์สู่สมาชิกและช่วยสร้างฐานรากเศรษฐกิจชุมชน ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้อย่างแข็งแกร่ง |
ปัจจุบัน สหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายและมีความซับซ้อนในระบบสหกรณ์มากขึ้น ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการสอบบัญชีและระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้ปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบบัญชีรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการด้านการบัญชี การสอบบัญชี ความยุ่งยากซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ และสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานสอบบัญชีสหกรณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยทำให้ระบบบัญชีมีคุณภาพ เชื่อถือได้ เกิดความโปร่งใส มุ่งเน้นการบริหารจัดการสหกรณ์ด้วยระบบธรรมาภิบาล และสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานการสอบบัญชีในการเข้าไปตรวจสอบสหกรณ์แต่ละแห่งอย่างรู้เท่าทัน |
ทั้งนี้ ในปี 2561 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานด้านการสอบบัญชีสหกรณ์ อาทิ มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีสหกรณ์ การวางแผนการสอบบัญชีโดยรวม การจัดทำแนวการสอบบัญชี รวมถึงการจัดทำกระดาษทำการขึ้นใหม่ โดยจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร การซักซ้อมกระบวนการตรวจสอบบัญชีรูปแบบใหม่ ปี 2561 เพื่อให้ผู้สอบบัญชีและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้เกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบบัญชีรูปแบบใหม่ ที่จะถือใช้ในปีงบประมาณ 2561 และนำไปใช้ในการปฏิบัติงานสอบบัญชีสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
การอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรนี้ กำหนดจัดขึ้น จำนวน 1 รุ่น ระหว่างวันที่ 19-21กันยายน 2560 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญในส่วนกลาง บุคลากรสำนักมาตรฐานการบัญชีและการสอบบัญชี ทีมงานนำร่องมาตรฐานประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีสหกรณ์ และทีมงานนำร่องมาตรฐานกระดาษทำการ รวม 39 คน ซึ่งจะได้นำความรู้ที่ได้รับนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงานสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป. |
|
|
|
|