|
|
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ขานรับแนวทางปฏิรูปสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์
เครดิตยูเนี่ยน หนุนสหกรณ์เปิดเผยรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน
สร้างความเข้มแข็งในระบบสหกรณ์
|
นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ได้เห็นชอบ"ร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พ.ศ...ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน ถือเป็นสถาบันการเงินซึ่งมีบทบาทในการระดมเงินออมของประชาชนเป็นหลักและมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่การประกอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ทั้งสองประเภทก็มีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน มีการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อแสวงหาผลตอบแทนมากขึ้นและมีการกู้ยืมระยะสั้นจากภายนอกเพื่อนำมาปล่อยกู้ระยะยาวให้แก่สมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งหากขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีแล้ว อาจทำให้เกิดผลขาดทุนจากการลงทุนและปัญหาสภาพคล่องตามมาได้ อีกทั้งการขาดข้อมูลเกี่ยวกับภาระหนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้และส่งผลต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย |
ดังนั้น เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สามารถขยายบทบาทการดำเนินกิจการทางการเงิน โดยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบสหกรณ์และเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องกำหนดแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภท ให้เป็นมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกับแนวทางการกำกับดูแลสถาบันการเงินอื่นๆ ให้ครอบคลุมความเสี่ยง 4 ด้าน ได้แก่ 1.ความเสี่ยงด้านเครดิต 2.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง 3.ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และ 4.ธรรมาภิบาล ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ทั้งสองประเภท จะมีความเข้มงวดมากกว่า เนื่องจากมีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นๆ ซึ่งหากกำกับดูแลไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบต่อระบบการเงินโดยรวมได้ |
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า เนื้อหาในร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ที่มีขนาดสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดทำและเปิดเผยรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินทุกเดือน โดยในระยะแรกกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดรูปแบบรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ดำเนินการแล้ว และให้สหกรณ์ส่งมายังสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในพื้นที่ที่สหกรณ์ตั้งอยู่ภายใน 20 วัน หลังจากวันสิ้นเดือนของ ทุกเดือนและให้สหกรณ์ประกาศรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาของสหกรณ์ทุกแห่ง รวมทั้งให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสหกรณ์ โดยให้จัดทำตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การทำรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าว จะเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการของสหกรณ์ทั้งสองประเภทให้ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
|
|
|
|