|
|
"ศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์ครูบัญชีรุ่นใหม่ ใช้บัญชีเป็นเครื่องมือปลดหนี้
ให้เกษตรกร ขับเคลื่อนโมเดลบ้านร้องส้มป่อย 4.0 พัฒนาสู่ชุมชนต้นแบบ
คนรักการทำบัญชี
ผมจะใช้บัญชี เป็นเครื่องมือปลดหนี้ให้เกษตรกร เป็นคติประจำใจของ ศุภธนิศร์ ภูเวียงจันทร์ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 28 ปี จากตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ที่พ่วงด้วยตำแหน่งครูบัญชีดีเด่นระดับภาค ประจำปี 2560 ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนโดยใช้บัญชีเป็นเครื่องมือนำทาง เป็นเวลากว่า 10 ปี จนเห็นผลสำเร็จ และเป็นผู้พัฒนาและผลักดัน "โมเดลบ้านร้องส้มป่อย 4.0 ขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบคนรักการทำบัญชี ด้วยระบบการจัดการที่เข้มแข็งในชุมชน สามารถปลดหนี้นอกระบบและกระตุ้นการทำบัญชีในชุมชนได้ถึงร้อยละ 80 |
ครูศุภธนิศร์ เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานของสหกรณ์ชาวสวนลำไยภาคเหนือ จำกัด และได้รับผิดชอบนำโครงการเสริมสร้างภูมิปัญญาทางบัญชีแก่เกษตรกรจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงใหม่ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มาส่งเสริมให้กลุ่มสมาชิกสหกรณ์ทำบัญชีครัวเรือน จึงเริ่มเห็นความสำคัญของการจดบันทึกบัญชีที่ช่วยให้ทราบถึงรายรับ รายจ่าย ซึ่งเป็นประโยชน์แก่คนที่ได้บันทึก กระทั่งมีโอกาสได้เข้าอบรมเพื่อเป็นอาสาสมัครเกษตรกรด้านบัญชี (ครูบัญชีอาสา) ประจำสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์เชียงใหม่ และนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาเผยแพร่แก่เกษตรกรในชุมชน รวมทั้งนำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงมาส่งเสริมความรู้ให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ จึงทำให้มีเครือข่ายครูบัญชีเพิ่มมากขึ้น |
ประสบการณ์ที่ได้จากการจดบันทึกบัญชีด้วยตนเอง ยังสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การลงทุนผลผลิตทางการเกษตรซึ่งทำเป็นอาชีพเสริม คือ การปลูกฟักทองแฟนซีและเมล่อน โดยหลังจากเริ่มบันทึกบัญชี จึงทำให้รู้ต้นทุนการประกอบอาชีพและหาวิธีที่จะลดต้นทุนการผลิตโดยการทำปุ๋ยหมักและวัตถุธรรมชาติแทนสารเคมีในการปลูก ทำให้สามารถขยายผลจากการปลูกและจัดจำหน่ายไปถึงการรับผลผลิตจากชุมชนมารวมกลุ่มกันเพื่อจัดจำหน่าย โดยคำนึงถึงต้นทุนและคุณภาพของผลผลิต จนเป็นที่ยอมรับของพ่อค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น กลุ่มผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่งและกลุ่มผู้ค้าระดับพรีเมี่ยม กลุ่มพ่อค้าคนกลางในตลาดไทย 4 มุมเมือง และตลาดหัวเมือง กลุ่มโรงงานแปรรูปอาหารและของว่างบนเครื่องบิน กลุ่มผู้ค้าผักสดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นวิทยากรให้ความรู้ทางบัญชีแก่เกษตรกร จึงทำให้เกษตรกรและเครือข่ายครูบัญชี มีความรู้ด้านต้นทุนอาชีพเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งยังปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และโครงการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการพัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชีสู่บัญชีต้นทุนอาชีพ โครงการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรด้านการบัญชี โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ฯ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เป็นต้น |
"หลังจากได้มาทำไร่แคนตาลูป ฟักทองแฟนซี และฟักทองญี่ปุ่นของครอบครัว ก็ได้ทำบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือนควบคู่กับบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เมื่อสรุปบัญชีรายรับ รายจ่ายในการลงทุนประกอบอาชีพ จึงได้เห็นว่า มีต้นทุนที่สูงใกล้เคียงกับรายได้ที่รับ เลยมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนการลงทุนครั้งใหม่ จากเดิมที่ใช้สารเคมีก็จะเริ่มลดลง นำวัตถุอินทรีย์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเข้ามาทดแทน ไม่ใช้อินทรีย์ทั้งหมดเพราะจะทำให้การเจริญเติบโตของพืชลดลง ซึ่งถือว่าเป็นการลดต้นทุนที่ดี ก็เลยส่งเสริมการทำเกษตรแบบอินทรีย์ชีวภาพให้แก่เกษตรกร ให้เกษตรกรใช้อินทรีย์ชีวภาพประมาณร้อยละ 30 ทดแทนสารเคมีที่ใช้อยู่เดิม ปรากฏว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีเงินเหลือจากการประกอบอาชีพอีกทั้งผลผลิตยังมีคุณภาพที่ดีกว่าการใช้สารเคมีทั้งหมด |
หนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญคือ การเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลบ้านร้องส้มป่อย 4.0 ซึ่งเกิดจากการเข้าไปขับเคลื่อนให้เกษตรกรในชุมชนบ้านร้องส้มป่อย ตำบลทุ่งสะโตก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีสมาชิก 53 ครัวเรือน ได้เห็นความสำคัญในการจัดทำบัญชีทั้งบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และนำข้อมูลจากการบันทึกบัญชีไปวิเคราะห์ตนเอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากหมู่บ้านที่เกษตรกรมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ กลายเป็นชุมชนที่มีระบบจัดการที่ดีและเข้มแข็ง จนพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบคนรักการทำบัญชี ซึ่งโมเดลที่คิดขึ้นแบ่งเป็นระยะ 1.0 ชักชวนชาวบ้านเข้ารับการอบรมการบันทึกบัญชี ขับเคลื่อนด้วยบุคลากรและจิตสำนึก ระยะ 2.0 วิเคราะห์รายได้-รายจ่าย จัดระบบอาชีพ (อาชีพหลัก/อาชีพรอง/อาชีพเสริม) ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพและชุมชน ระยะ 3.0 จัดการหนี้-ปลดหนี้ ขับเคลื่อนด้วยระบบการจัดการในชุมชน/ครัวเรือน ระยะ 4.0 จัดตั้งธนาคารชุมชน (ธนาคารสมอง/ธนาคารเมล็ดพันธุ์/ธนาคารความรู้) ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทั้งนี้ ยังตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้ชาวบ้านแบ่งหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 รับผิดชอบเรื่อง การลดรายจ่ายในครัวเรือน กลุ่มที่ 2 การลดต้นทุนการประกอบอาชีพ และกลุ่มที่ 3 พัฒนาอาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริมให้ยั่งยืน โดยจัดทำแผนการสอนเป็น 3 ระยะ เน้นให้เห็นความสำคัญในระยะแรกและลงมือทำ หลังจากนั้นให้นำข้อมูลไปวิเคราะห์ให้เห็นถึงประโยชน์จากการลงบัญชี จนปัจจุบันชาวบ้านสามารถทำบัญชีในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพได้ คิดเป็น 80% ภาระหนี้สินนอกระบบลดลงและมีรายได้มากกว่ารายจ่าย สมาชิกในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นต้นแบบให้หมู่บ้านใกล้เคียงมาดูงานและนำไปปฏิบัติตามแบบอย่าง |
"ชุมชนบ้านร้องส้มป่อยเป็นชุมชนขนาดเล็ก เราได้นำระบบบัญชีเข้าไปในหมู่บ้าน คิดว่าจะทำให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบขึ้นมาซึ่งการขยายผลจะดีกว่า โดยได้รับความร่วมมือที่ดีมากในการช่วยกันส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ จนได้อาชีพทั้ง 3 อาชีพทุกครัวเรือน ทั้งอาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม ทำให้เงินหมุนเวียนในหมู่บ้าน ภาระหนี้ลดลง จนตอนนี้หนี้นอกระบบหายไป ทุกหลังคาเรือนมีการบันทึกบัญชีที่ชัดเจนและแยกออกมาเป็นแต่ละกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็จะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันตามหัวข้อที่วางไว้ มีการแบ่งหน้าที่ที่จะต้องมาส่งเสริมในหมู่บ้านให้สำเร็จตามหัวข้อ ซึ่งถือว่าเราประสบความสำเร็จในส่วนหนึ่ง แต่ที่ในชุมชนต้องการคือ การสร้างสถาบันการเงินชุมชน คาดว่าจะสร้างเสร็จไม่เกินปี 2561 การส่งเสริมในส่วนของอาชีพ ก็จะใช้อาชีพที่ทำได้ง่ายๆ ที่ไม่ต้องสร้างโรงเรือน หรือใช้พื้นที่เยอะๆ เช่น การทำเห็ดฟางกองเตี้ย สามารถทำในบริเวณบ้านหรือใช้ใต้ถุนยุ้งข้าวที่ว่างอยู่ ไม่ได้ใช้ มาทำเป็นโรงเรือน สามารถพัฒนามาเป็นเงินหมุนเวียนในครัวเรือนได้ |
ปัจจุบันครูศุภธนิศร์ ยังคงทำหน้าที่เป็นวิทยากรสอนแนะการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ในโครงการพัฒนาเกษตรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และร่วมสอนตามโครงการของรัฐบาล เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นต้น อีกทั้งสอนแนะการใช้ แอปพลิเคชั่น Smart Acc แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจอีกด้วย |
"สิ่งที่ภาคภูมิใจ คือ การได้เป็นตัวแทนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการนำความรู้ทางบัญชีที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่ชุมชนและผู้สนใจทั่วไป จนได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากหลายหน่วยงานและหลายๆ ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและขับเคลื่อนชุมชนบ้านร้องส้มป่อย ให้เป็นชุมชนต้นแบบ คนรักการทำบัญชี ที่ใช้บัญชีเป็นเครื่องมือควบคุมวินัยทางการเงิน สามารถปลดหนี้นอกระบบที่ชุมชนเคยมีอย่างได้ผล ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น สิ่งสำคัญคือ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนองพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการใช้บัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพสู่การออมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และขับเคลื่อนตามคำปรัชญาของตนเองในการใช้บัญชีเป็นเครื่องมือปลดหนี้ให้เกษตรกร |
|
|
|
|