65 ปี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยนวัตกรรมสารสนเทศ
พร้อมก้าวสู่ยุค Thailand 4.0
 
 
       จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ     พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ได้ให้ความสำคัญกับระบบสหกรณ์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ และมีส่วนในการช่วยส่งเสริมการออม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีวินัยทางการเงินที่ดี สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน
        ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี แห่งการก่อตั้ง กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการขับเคลื่อนพัฒนาสหกรณ์ไทยให้มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่โปร่งใสและเข้มแข็ง ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกร เยาวชน และประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นความสำคัญของการทำบัญชี ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มีนาคม 2560 นี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมก้าวสู่ปีที่ 65 โดย นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดกรอบทิศทางการทำงานของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายการพัฒนางานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครอบคลุมภารกิจหลักของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ โดยมีแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1. คุณประโยชน์ของการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลจะต้องเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจนและนำไปสู่การพัฒนาสหกรณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม 2. สร้างผู้บริหารสหกรณ์เพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาสหกรณ์แห่งอนาคต 3. คุณประโยชน์ของการทำบัญชีและบริหารการเงินที่มีคุณภาพจะต้องเป็นที่ประจักษ์ต่อเกษตรกรได้อย่างกว้างขวางชัดเจนและเข้าถึงได้ 4. มีระบบบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการรองรับภารกิจที่เร่งด่วน ท้าทาย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างความเป็น AUDITOR ให้มีความชัดเจนและเป็นจริง
         ขณะเดียวกัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีแผนกลยุทธ์ พ.ศ.2560-2564 โดยกำหนดโมเดลการพัฒนาเป็น "CAD 4.0 : Value-Based Strategies” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยนวัตกรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ภายในปี 2564 สหกรณ์และเกษตรกรมีระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี โดยในปี 2560 เป็นปีแรกที่เริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยการใช้โมเดลนวัตกรรมเพื่อสร้างข้อมูลที่มีคุณค่า "Innovation for Valuable Information” ให้สามารถนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจและสนับสนุนสหกรณ์และเกษตรกรให้มีความพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการสอบบัญชีสหกรณ์ ระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีสหกรณ์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาผู้สอบบัญชีให้เป็น Smart Auditor ซึ่งจะนำไปสู่ "Real AUDITOR”: องค์กรมืออาชีพ พัฒนามาตรฐานจริยธรรมด้านการเงินการบัญชีของผู้บริหารสหกรณ์และพัฒนาระบบข้อมูล เพื่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริหารสหกรณ์ (COOP Smart Decision) เพื่อให้เป็นผู้บริหารสหกรณ์ยุคดิจิทัล เพิ่มพูนทักษะผู้ตรวจสอบกิจการสู่การสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มงานใหม่ด้วยการสร้างระบบเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์ แบบ Real Time สร้างสื่อดิจิทัลการเรียนรู้ทางบัญชี และสร้างเกษตรกรสมัยใหม่ด้วยบัญชีสู่วิถีธุรกิจแนวทางประชารัฐนำไปสู่การเป็นเกษตรกรยุค Thailand 4.0
         "ด้วยภารกิจของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ถือว่าเป็นส่วนสนับสนุนในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรของประเทศ ให้เกิดความโปร่งใส เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการสร้างบุคลากรในขบวนการสหกรณ์ให้เป็นนักบริหารงานบัญชีสหกรณ์สู่ความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ การที่สหกรณ์จะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ จำเป็นที่ผู้บริหารและมวลสมาชิก จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการทำบัญชีและงบการเงิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของสหกรณ์ในการจัดทำ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในสหกรณ์ เป็นตัวชี้วัดถึงความสำเร็จของสหกรณ์ได้ ซึ่งสมาชิกก็ต้องมีส่วนร่วมรับรู้ข้อมูลทางบัญชีสหกรณ์ทั้งภาพรวมและของตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกสหกรณ์กับฝ่ายจัดการ เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการสหกรณ์ บัญชีจึงนับเป็นเครื่องในก้าวสู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.
           บทบาทของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นข้อพิสูจน์ได้ถึงการรักษามาตรฐานและคุณภาพการทำงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งเกษตรกรและประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี