นางรำพึง อินทร์สำราญ เกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ประจำปี 2560 จากจังหวัดสุรินทร์ นับเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีจิตอาสา มีอัธยาศัยดี และเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องของสังคมผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่เป็นที่ประจักษ์ คือ การสละพื้นที่ของตนเองเพื่อทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อให้บริการกับสังคม และประชาชน โดยครูรำพึงมีหลักแนวคิดที่เรียกว่า ททท. หรือ ทำทันที คือ ทำ เมื่อมีงานที่คิดอยากทำ หรือที่ต้องทำ ต้องลงมือทำทันที ไม่พลัดวันประกันพรุ่ง ทัน คือ ลงมือทำให้เสร็จทันเวลา และเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และที คือ ทำงานให้เสร็จทีละอย่าง ไม่หมักหมมงานไว้ และสิ่งสำคัญคือ การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และเริ่มวางแผนการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนของตนเอง
ต่อมาปี 2553 ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สุรินทร์ เรื่อง การจดบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ จึงมองเห็นประโยชน์ของบัญชีมากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ มีการนำข้อมูลที่ได้รับจากการบันทึก
บัญชีมาวิเคราะห์ต้นทุนแต่ละอาชีพ ส่งผลให้ครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว จึงมีความคิดจะให้คนอื่นได้รู้บ้างจึงสมัครเป็นอาสาสมัครครูบัญชีอาสาเมื่อปี 2555 โดยชักชวนสามีมาสมัครด้วย ทำให้ทั้งสองท่านมีความรู้ความเข้าใจในการบันทึกบัญชีเป็นอย่างดี และสามารถถ่ายทอดความรู้ให้บุคคลอื่นได้ ซึ่งจากประสบการณ์การทำงาน
ในชุมชน ทำให้รู้ถึงปัญหาของชุมชนว่ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ประชาชนมีหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ประชาชนเห็นว่าค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้เกิดการท้อแท้ในการจดบันทึกบัญชีและในที่สุดไม่ต้องการที่จะบันทึกต่อไป ครูรำพึงจึงหาวิธี
ชักชวนให้ผู้ผ่านการอบรมเข้ามาเรียนรู้จากสถานที่จริง คือที่ศูนย์เรียนรู้ในบริเวณบ้าน และนำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพที่ตนเองจดไว้มาเป็นตัวอย่างและชี้ให้เห็นประโยชน์ วิเคราะห์ตัวเลข เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการลดค่าใช้จ่าย หารายได้เพิ่มจากการปลูกผักไว้กินเอง เลี้ยงปลา หาอาชีพเสริม
ครูรำพึง นับเป็นเกษตรกรรายแรกๆ ของจังหวัดที่คิดริเริ่มทำนาดำแบบอินทรีย์และประสบความสำเร็จ ในปี 2556 มูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี ในการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน พร้อมทั้งจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดสุรินทร์ ขึ้น เพื่อผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน โดยใช้บ้านเป็นฐานเรียนรู้การปลูกข้าว
แบบอินทรีย์ และยังได้รับพระราชทานกระบือพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นชุดการเรียนรู้การไถนาโดยใช้ควาย นอกจากนี้ปี 2557 ยังได้รับ
พระราชทานทุนทรัพย์ เพื่อสร้างศาลาเรียนรู้และฝึกอบรมแก่เกษตรกรที่สนใจ
ปัจจุบัน ครูรำพึง เป็นตัวแทนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่วิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนอาชีพ ที่หน่วยงานต่างๆ จัดอบรมโดยมีการออกแบบและประยุกต์ใช้แบบฟอร์มในการจัดทำต้นทุนประกอบอาชีพให้เหมาะสมในแต่ละอาชีพ มีความเข้าใจง่าย เป็นแบบอย่างในการทำการเกษตรที่ยึดหลักเกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยพืชสดในการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การทำน้ำหมัก เพื่อมาใช้ในการเกษตรแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งศูนย์เรียนรู้ของ
ครูรำพึง จึงนับเป็นศูนย์รวมทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นจุดสาธิตด้านประมง เป็นศูนย์เรียนรู้
ลดต้นทุนการผลิตข้าวนาโยน โครงการข้าวเกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในเขตปฏิรูปที่ดิน "ทำเกษตรอินทรีย์ ดินดี มีสุข ศูนย์ปราชญ์เกษตร ส.ป.ก. แปลงต้นแบบนิคม
การเกษตร และเป็นกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน
ของมูลนิธิชัยพัฒนา อีกด้วย
|