กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตรวจเข้มสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน
         เร่งพัฒนาภาคสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
 
         นายสมปอง อินทร์ทอง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์    กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีภารกิจสำคัญ ในการสร้างความเข้มแข็งและความโปร่งใสในด้านการบริหารจัดการการเงินการบัญชีให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรทั่วประเทศ โดยการเข้าไปสร้างมาตรฐานการบัญชีให้กับสหกรณ์และเข้าไปตรวจสอบบัญชีให้มีความเข้มแข็งและเป็นมาตรฐานสากล โดยทำให้ระบบบัญชีมีคุณภาพ เชื่อถึงได้ เกิดความโปร่งใส สร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรที่จะเข้าไปทำงานการสอบบัญชีในการเข้าไปตรวจสอบสหกรณ์แต่ละแห่ง โดยการเข้าไปดูแล แนะนำ สอดส่อง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการสรุปผลการตรวจสอบการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ทุกประเภท เพื่อเป็นการป้องกันและป้องปรามปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกและสหกรณ์ จากการดำเนินธุรกรรมที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเพื่อหาแนวทางแก้ไขมิให้เกิดผลเสียหายทางการเงินสู่ความมั่นคงของสหกรณ์
           อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า จากรายงานของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในพื้นที่ ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 พบว่า มีสหกรณ์ที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ จำนวนทั้งสิ้น 619 แห่ง มีมูลค่า จำนวน 12,809.17 ล้านบาท โดยธุรกรรมที่สหกรณ์ปฏิบัติไม่ถูกต้องมากที่สุด คือ การับฝากเงินจากบุคคลภายนอก ซึ่งไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2553 มาตรา 46 (5) โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 507 แห่ง มูลค่า 5,899 ล้านบาท ทั้งนี้ พบว่ามีจำนวน 21 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.39 ของจำนวนแห่งที่ทำธุรกรรมไม่ถูกต้อง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาจทำให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องและประสบปัญหาทางการเงิน และอาจส่งผลเสียหายต่อสมาชิกและสหกรณ์ในอนาคต โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ในพื้นที่ได้แจ้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในรายงานการสอบบัญชีและได้แจ้งให้สหกรณ์จังหวัดทราบ เพื่อดำเนินการติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
           "นอกจากการตรวจสอบบัญชีแล้ว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้ทำหน้าที่กำกับสหกรณ์และติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งการให้สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ทุกจังหวัด รายงานการดำเนินธุรกิจหรือการทำธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ทุกประเภท ซึ่งหากสหกรณ์ที่มีการกระทำความผิดไม่ว่าจะกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหกรณ์ก็ตาม หรือมีสัญญาณบอกเหตุที่อาจเกิดความผิดพลาดบกพร่อง จะได้แจ้งให้สหกรณ์แก้ไขให้ถูกต้องอย่างทันท่วงที หากสหกรณ์ไม่แก้ไข ก็ให้ใช้มาตรการตามกฎหมาย
สั่งการให้สหกรณ์ดำเนินการได้ทันที เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นอีกในขบวนการสหกรณ์ ควบคู่กับการเดินหน้าพัฒนาสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กรมฯ
ได้รายงานผลการตรวจสอบบัญชีเสนอนายทะเบียนสหกรณ์ เพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตจากการตรวจสอบบัญชี” นายสมปอง กล่าว.