“พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”
พระราชพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคลของเกษตรกรไทย
 
 
       ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีพระราชพิธีสำคัญที่เป็นการเสริมสร้างสิริมงคล บำรุง
ขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรไทย นั่นคือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ซึ่งประกอบด้วย 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์ และพระราชพิธี
จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีหว่านไถ) อันเป็นพิธีพราหมณ์ 
       ในปี พ.ศ.2509 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนา
ขวัญ เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปี  เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญ
ของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีฯ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตนเอง
ทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ไปกับ
งานพระราชพิธีฯ และในแต่ละปีผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาจะต้องเป็นปลัดกระทรวงเกษตรและ
สหกรณ์  ซึ่งในปีนี้กำหนดประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในระหว่าง
วันที่ 12 และ 13 พฤษภาคม โดยมี นายเฉลิมพร พิรุณสาร  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทำหน้าที่พระยาแรกนา  ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่เทพีหาบทองและหาบเงินนั้น  จะทำการคัดเลือกจาก
บรรดาข้าราชการสาวโสดของกรมต่างๆ ในสังกัด ซึ่งเทพีคู่หาบทองของปีนี้  ได้แก่ นางสาว
เดือนเพ็ญ  ใจคง  จากกรมหม่อนไหม  และ นางสาวสรชนก  วงศ์พรม  จากกรมประมง 
ในขณะที่เทพีคู่หาบเงิน  ได้แก่  นางสาวสิริลักษณ์  สมสกุล  จากกรมชลประทาน และ
นางสาวเจษฎาภรณ์  สถาปัตยานนท์  จากกรมส่งเสริมสหกรณ์
       ทุกปีจะเตรียมพระโคแรกนาไว้ 2 คู่  โดยคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม  คือ 
จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี  รูปร่างสมบูรณ์  มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาว
ของลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร  ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร 
โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน  ผิวสวย  ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย  ฝึกง่าย  สอนง่าย 
ไม่ดุร้าย  เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ  หางยาวสวยงาม  มีขวัญ
ทัดดอกไม้ซ้ายขวา  และขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี  กีบและข้อเท้าแข็งแรง  และ
ด้านข้างของลำตัวมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งพระโคที่นำมาประกอบพระราชพิธีฯ ในปีนี้ 
ได้แก่  พระโคฟ้าและพระโคใส  ส่วนพระโคสำรองได้แก่  พระโคเทิดและพระโคทูน
       การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯ  มี 2 ช่วง  โดยช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐาน
หยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งมี 3 ผืน  ขนาดหกคืบห้าคืบ และ สี่คืบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนาย
ไปตามนั้น กล่าวคือ
       ผ้าสี่คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่ม
อาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
       ผ้าห้าคืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร
มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์
       ผ้าหกคืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหาย
บ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
       ส่วนการเสี่ยงทายในช่วงที่สอง  คือ  ภายหลังจากไถหว่านจะเป็นการเสี่ยงทายของกิน
7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า
ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำพยากรณ์ ดังนี้
       พระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
       พระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
       พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
       พระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น
ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
       และทุกปี เราจะเห็นเหล่าเกษตรกรและผู้ที่มาร่วมพระราชพิธีฯต่างกรูกันเข้าไปยังลาน
แรกนา เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคล ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา พันธุ์ข้าว
ที่นำมาใช้ในพระราชพิธีฯ ได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงปลูก
พระราชทานเพื่องานพระราชพิธีฯ โดยเฉพาะ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น
“พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็ก เพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่างๆ แจกจ่าย
แก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ 
       สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ในงานพระราชพิธีฯ  คือ การที่เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ 
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ  และสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ  จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล
ในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2554 
ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติอันจะนำความปลาบปลื้มปิติสู่เหล่า
เกษตรกรไทยตราบนานเท่านาน...