กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สรุปภาพรวมธุรกิจสหกรณ์เติบโตต่อเนื่อง
ชี้ธุรกิจสินเชื่อและรับฝากเงินขยายตัวเพิ่ม เร่งพัฒนาธุรกิจสหกรณ์
ก้าวหน้าทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ
 
นายสมปอง อินทร์ทอง อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ในวาระโอกาสครบรอบ 100 ปีสหกรณ์ไทย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการนำกลไกทางบัญชีมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมให้สหกรณ์มีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส น่าเชื่อถือ โดยการเชื่อมองค์ประกอบ 4 ด้านภายในสหกรณ์เข้าด้วยกัน คือ ด้านสมาชิกผู้ใช้บริการ ด้านการจัดการธุรกิจ ด้านการบริหาร และด้านการตรวจสอบกิจการ โดยสนับสนุนให้มีการนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจควบคู่กับการนำหลักธรรมาภิบาล ทั้ง 6 ประการ ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการทางการเงินการบัญชีแก่สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร และเป็นการสร้างวินัยด้านการจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพแก่เกษตรกรผ่านระบบสหกรณ์ โดยใช้หลักธรรมาภิบาลเข้ามาช่วยสนับสนุน
         อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สหกรณ์ได้มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีจำนวนสหกรณ์ 8,074 แห่ง สมาชิก 11.87 ล้านคน และทุนดำเนินงาน 2.37 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นในรอบ 25 ปี 1.69 เท่า , 2.89 เท่า และ 40.43 เท่า ตามลำดับจากการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจสินเชื่อ,จัดหาสินค้ามาจำหน่าย,รวบรวมผลผลิต,แปรรูปผลผลิต, บริการและให้การส่งเสริม และรับฝากเงิน ในปี 2558 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นในรอบ 25 ปี ถึง 26.15เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินธุรกิจสินเชื่อ ร้อยละ 60.43 และรับฝากเงิน ร้อยละ 31.15 เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบแต่ละธุรกิจ จะเห็นว่าธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย , รวบรวมผลผลิต , และให้บริการและส่งเสริม มีแนวโน้มมูลค่าธุรกิจลดลง ในขณะที่มีธุรกิจรับฝากเงิน มีมูลค่าสูงขึ้นมากถึง 44.57 เท่า
          จากภาพรวมการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ จะเห็นได้ว่า 100 ปีที่ผ่านไป สหกรณ์มีความเติบโตทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวของธุรกิจสินเชื่อและรับฝากเงิน    ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในเชิงปริมาณ ในขณะที่ยังมีบางสหกรณ์ที่มีปัญหาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมีการดำเนินธุรกิจนอกกรอบวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ และทำให้สหกรณ์เกิดความเสียหาย หรือเสื่อมเสียผลประโยชน์และความเชื่อถือขาดศรัทธาจากสมาชิก ดังนั้น การเติบโตของสหกรณ์ จึงควรก้าวไกลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยยึดมั่นในหลักการสหกรณ์ บริหารจัดการสหกรณ์ด้วยระบบธรรมาภิบาล โดยมีระบบบัญชีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสู่การบริหารจัดการสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ขบวนการสหกรณ์ไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง โปร่งใส มั่นคง สามารถให้สวัสดิการและความมั่งคั่งแก่สมาชิกได้อย่างยั่งยืน อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย เติบโตด้วยระบบสหกรณ์.