ปี 53 ธุรกิจสหกรณ์ภาคการเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.85 % 
คาดว่าปี 54 โตต่อเนื่องอีก 15.86 %

      สหกรณ์ภาคการเกษตรมีจำนวนทั้งสิ้น 3,695 แห่ง ประกอบด้วย 3 ประเภทสหกรณ์
คือ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง และสหกรณ์นิคม มีสมาชิกรวม 6.3 ล้านคนเศษ
คิดเป็นร้อยละ 9.40 ของประชากรทั้งประเทศ  ดำเนินธุรกิจภายใต้ทุนดำเนินการ
1.40 แสนล้านบาท บริหารจัดการ 5 ธุรกิจหลักให้บริการ สร้างมูลค่าธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น
ร้อยละ 8.85 และทำกำไรสุทธิได้ทุกประเภทสหกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.57 เมื่อเทียบกับ
ปี 2552
       อย่างไรก็ตามทุกประเภทสหกรณ์มีอัตราค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้รวมค่อนข้างสูง
เกินกว่าร้อยละ 90 ขึ้นไป ส่วนการควบคุมภายในมีการพัฒนาที่ดีขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ในระดับ
ดี-ดีมาก  สถานการณ์ทางการเงินไม่น่าเป็นห่วงมากนัก  ทุนสหกรณ์สามารถรองรับหนี้
ภายนอกได้ถึง 1.35 เท่า

         นายสิงห์ทอง ชินวรรังสี อธิบดีกรมตรวจ
 บัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า สหกรณ์ภาคการเกษตร
 ดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้
 แบบอเนกประสงค์มี 5 ด้าน คือ รับฝากเงิน
 ให้สินเชื่อ จัดหาสินค้ามาจำหน่าย รวมรวบ
 ผลิตผล/แปรรูป และให้บริการ ปี 2553 มีมูลค่า
 ธุรกิจรวมทั้งสิ้น 2.34 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น
 ร้อยละ 15.83 ของมูลค่าธุรกิจรวมภาคสหกรณ์
 ไทยทั้งประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85
เมื่อเทียบกับปี 2552 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2551-2553) ธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น
ต่อเนื่องทุกปี จาก 1.86 แสนล้านบาท ในปี 2551 เป็น 2.34 แสนล้านบาท ในปี 2553
แนวโน้มปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 15.68 เป็น 2.71 แสนล้านบาท
       สำหรับสถานการณ์ทางการเงินของสหกรณ์ภาคการเกษตร ในด้านความเพียงพอของ
เงินทุนต่อความเสี่ยง (Capital Strength) ทุนดำเนินงาน  1.40  แสนล้านบาท  ขยายตัว
เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.53 เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยเป็นทุนของสหกรณ์ร้อยละ 33.58
เงินรับฝากร้อยละ 36.02 อีกร้อยละ 30.40 เป็นเงินกู้ยืมจากภายนอกและอื่นๆ ทุนของ
สหกรณ์สามารถรองรับหนี้ภายนอกได้ถึง 1.35 เท่า จึงเพียงพอต่อการดำเนินงานและ
ไม่เสี่ยงต่อการลงทุน  รอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2553) ทุนดำเนินการขยายตัวเพิ่มขึ้น
2.83 หมื่นล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.24  จาก 1.12 แสนล้านบาท ในปี 2551
เป็น 1.40 แสนล้านบาท ในปี 2553 และคาดว่า ในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ  11.12
       อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า ด้านคุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality)
สินทรัพย์ 1.40 แสนล้านบาท อยู่ที่ลูกหนี้สินเชื่อมากที่สุด 9.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็น
ร้อยละ 65.22 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น รองลงมาอยู่ที่เงินสดเงินฝากธนาคาร/สหกรณ์
ร้อยละ 18.81 อยู่ที่ที่ดิน/อาคาร/อุปกรณ์ร้อยละ 7.69 อยู่ในตราสารหนี้ ร้อยละ 1.02
อีกร้อยละ 7.26 อยู่ในสินค้าและอื่นๆ ตามลำดับ มีลูกหนี้ NPL กว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 21.15 ของลูกหนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการบริหารจัดการลูกหนี้เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามสินทรัพย์ส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพจึงส่งผลให้มีอัตราผล
ตอบแทนต่อสินทรัพย์ร้อยละ 3.00
       นอกจากนี้ในด้านความสามารถในการบริหารจัดการ (Management Ability) 
บริหารจัดการ 5 ธุรกิจหลักสำคัญ สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ 2.34 แสนล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ย 
1.95 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85 เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยคิดเป็น
ร้อยละ 15.83  ของมูลค่าธุรกิจรวมภาคสหกรณ์ไทยทั้งประเทศ  รอบ 3 ปี (ปี 2551-2553) ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกด้าน โดย ธุรกิจรับฝากเงิน : ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.61 ธุรกิจสินเชื่อ :
 ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.85 ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย : ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.10  ธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูป : ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.56 และธุรกิจให้บริการ : ขยาย
เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และคาดว่า ในปี 2554 มูลค่าธุรกิจรวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.68
       ส่วนด้านความสามารถในการทำกำไร (Earning)  สามารถทำกำไรได้ในอัตรา
ร้อยละ 2.85 กว่า 4 พันล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 2.80 ของรายได้ทั้งสิ้น มีสหกรณ์ภาค
การเกษตรเพียง 912 แห่ง ที่ประสบภาวะขาดทุน 490.49 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 0.33 
ของรายได้ทั้งสิ้น  รอบ 3 ปี (ปี2551-2553)  กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่า 1.50 พันล้านบาท
หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  57.25 จาก 2.62 พันล้านบาท ในปี 2551 เป็น 4.12 พันล้านบาท
ในปี 2553 และคาดว่า ในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.38
       ในขณะที่การควบคุมภายในมีการพัฒนาที่ดีขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนข้างดี-ดีมาก
ร้อยละ 82.83 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 เมื่อเทียบกับปี 2552  ขณะที่ระดับต้องปรับปรุงมีเพียง
ร้อยละ 3.38 ปรับลดลง ร้อยละ 1.78 เมื่อเทียบกับปี 2552 และคาดว่าในปี 2554 จะพัฒนา
ดีขึ้นถึงระดับดี-ดีมาก และปรับลดลงในส่วนที่ต้องปรับปรุง
       ด้านสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ต่อความต้องการเงินของสหกรณ์ภาค
การเกษตรไม่น่าเป็นห่วงนัก แม้มีสัดส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียน
ในอัตรา 1.16 เท่า เนื่องจากหนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นเงินรับฝากของสมาชิก
ร้อยละ 42.50 และลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเกินครึ่งถึงร้อยละ 65.11
อีกทั้งสมาชิกมีเงินออมเฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85  ขณะที่หนี้สินเฉลี่ยต่อคนปรับ
ลดลงร้อยละ 10.40 เมื่อเทียบกับปี 2552  ดังนั้นสภาพคล่องทางการเงินไม่น่าเป็นห่วง
มากนัก
       อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ (Sensitivity) มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท ภัยธรรมชาติ ศัตรูพืช ราคาสินค้า/พืชผล
ไม่แน่นอน รวมถึงนโยบายภาครัฐ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหกรณ์
ภาคการเกษตรไม่น้อย ทั้งด้านของการลงทุน การออม การบริโภค และภาระการผ่อน
ชำระหนี้ของสมาชิก จึงเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังทางการเงิน โดยพัฒนาระบบเตือนภัยทาง
การเงิน (Warning System) และการพัฒนาระบบการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Driver)
เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการทางการเงิน การดำเนินการ และการให้ความสำคัญในการ
สร้างผลตอบแทนทางสังคม
       จะเห็นได้ว่าภาวะเศรษฐกิจทางการเงินของสหกรณ์ภาคการเกษตร ปี 2553
โดยรวมประสบผลสำเร็จมีกำไรทุกประเภทสหกรณ์ สถานการณ์การเงิน การลงทุน และ
ธุรกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกด้าน เมื่อเทียบกับปี 2552 ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจสหกรณ์
ภาคการเกษตรในปี 2554 คาดว่าธุรกิจสหกรณ์จะยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยดีอย่างต่อเนื่อง
จากปี 2553 โดยมูลค่าธุรกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.68  คิดเป็นมูลค่า 2.71 แสน-
ล้านบาท